จุดประกายความฝัน ปั้นนักวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนรุ่นใหม่ ใน “ค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยาม ครั้งที่ 6”

ข่าวทั่วไป Thursday October 29, 2009 13:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี 6 ปีแล้วที่ “ค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยาม” ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของประเทศทางด้านเทคโนโลยีซินโครตรอน ตลอดจนสร้างเครือข่ายงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยในประเทศ ผ่านความร่วมมืองานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ในระดับบัณฑิตศึกษา ในค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยามครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ทุกคนมารวมพลกันในค่ายที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 23 ตุลาคม ศกนี้ ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมา ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล หัวหน้าฝ่ายระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยามครั้งที่ 6 เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยพัฒนาศักยภาพและเพิ่มจำนวนทรัพยากรบุคคลไว้รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีซินโครตรอนในอนาคต นอกจากนี้ การที่นักศึกษาให้ความสนใจตอบรับเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และตลอดระยะเวลาเข้าร่วมกิจกรรม ทุกคนมีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้อย่างจริงจัง ถือเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งเราหวังว่านักศึกษาเหล่านี้จะเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ วิศวกร ที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีซินโครตรอนของประเทศต่อไป” นายรุ่ง ศิวารัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิศวกรรม บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยามครั้งที่ 6 มีประโยชน์มากสำหรับนิสิต นักศึกษา เพราะนอกจากเปิดกว้างให้เยาวชนแสดงความสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และความรู้ใหม่ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความสามัคคีจากการทำงานเป็นทีม และเป็นโอกาสดีๆ ที่จุดประกายให้พวกเขาเกิดความสนใจอยากจะเรียนรู้ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมแสงซินโครตรอนอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำงานหรือการเรียนต่อได้ในอนาคต” ในค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยามครั้งที่ 6 นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแสงซินโครตรอน ระบบลำเลียงแสง เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค และมีโอกาสศึกษาดูงานที่บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานโคราช จากการฟังการบรรยายเรื่องการใช้เทคนิค “Photoemission Spectroscopy” โดยใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน ทำให้ผู้เข้าค่ายเข้าใจถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น ทำไมเหล็กนำไฟฟ้า แต่สนิมกลับไม่นำไฟฟ้า หรือปรากฏการนำไฟฟ้าแบบไม่มีการสูญเสียพลังงานเลย (Superconductivity) ซึ่งความรู้เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อไป ในค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยาม ครั้งที่ 6 ได้มีโอกาสพบปะน้อง ๆ หลายคนซึ่งมีความประทับใจในกิจกรรมของค่าย น.ส.สินีนาฏ อันบุรี นิสิตชั้นปีที่ 2 หลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อม (นานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า น้องสมัครเข้าร่วมกิจกรรมในค่ายเพราะทราบมาว่าสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ และได้จองช่วงเวลาสำหรับใช้เครื่องมือเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ดังนั้น การเข้าร่วมกิจกรรมในค่ายจะช่วยเตรียมความพร้อมให้น้องก่อนการใช้เครื่องมือจริง น้องสินีนาฏยังบอกว่ารู้สึกประทับใจกิจกรรมในค่ายมาก เพราะกิจกรรมเหล่านี้ช่วยพัฒนาทักษะในการประยุกต์ข้อมูลที่ได้เรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานวิจัยระดับสูง น้องสินีนาฏเล่าว่าได้เรียนรู้ข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับเทคนิค X-ray Absorption Spectroscopy นอกจากนี้ ในวันสุดท้ายของการเข้าค่าย น้อง ๆ ทุกคนยังได้มีโอกาสชมการแสดงผลงานจากเพื่อนกลุ่มอื่น ซึ่งพยายามทำให้เรื่องที่พวกเขาได้เรียนรู้เป็นสิ่งที่ง่ายในการทำความเข้าใจสำหรับเพื่อน ๆ ที่เข้าร่วมค่าย จากการมีโอกาสได้พบกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศซึ่งได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในงานวิจัย พร้อมฝึกปฏิบัติงานวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์หลายสาขา น้องสินีนาฏเล่าว่าโอกาสอันน่าภาคภูมิใจนี้ทำให้ตนเองมีความสนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น และทำให้ได้เรียนรู้ว่านักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ก็สามารถทำงานวิจัยได้เช่นเดียวกัน นายธวัฒชาติ จุฬาปกรณ์ นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ เอกฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่าค่ายนี้ช่วยพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของน้องว่าทำให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเครื่องเร่งอนุภาค วิธีการในการผลิตเครื่องเร่งอนุภาค ตลอดจนวิธีการเก็บสิ่งที่สร้างมา การมีโอกาสได้พบกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศซึ่งได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในงานวิจัย พร้อมฝึกปฏิบัติงานวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์หลายสาขาทำให้ทราบประเด็นสำคัญสองประการคือ ระบบการทำงานของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) มีความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ และถ้าเราไม่ไปยืนในที่ ๆ มีลำแสงซินโครตรอนผ่านโดยตรง เราก็จะไม่ได้รับอันตรายอย่างแน่นอน จากการได้เข้าไปเยี่ยมชมโรงงานซีเกท โคราช น้องธวัฒชาติได้เรียนรู้ว่าเทคโนโลยีชั้นสูงต่าง ๆ ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตฮาร์ดดิสก์ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้รับฟังความรู้จากผู้บริหารของบริษัทเกี่ยวกับการปรับใช้เทคโนโลยีของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 2007 มาใช้งานจริง ดังนั้น การเข้าเยี่ยมชมโรงงานอันทันสมัยของซีเกท จึงเป็นการเปิดโลกทัศน์ของน้อง ๆ นั่นเอง นับว่าค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยามครั้งที่ 6 เป็นประตูอีกบานหนึ่งที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยได้รับประสบการณ์ ดี ๆ และความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สามารถจุดประกายฝัน กระตุ้นให้พวกเขาเป็นเครือข่ายทางด้านเทคโนโลยีซินโครตรอนในอนาคต ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: kwanjit.sudsawad@seagate.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ