กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--บลจ. แอสเซท พลัส
ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด กล่าวว่า ในตลอดเดือนกันยายนและตุลาคม ดัชนี Nikkei 225 มีการปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น อีกทั้งรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 และแนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในช่วงที่ผ่านมา แต่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตลาดญี่ปุ่นได้มีการปรับตัวลงตามตลาดโลก โดยล่าสุด (28/10/52) ดัชนี Nikkei 225 ปิดที่ระดับ 10,075.05 ปรับลดลง 137.41 จุด หรือ -1.35%
“ในด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น ตัวเลขการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial production) ในเดือนสิงหาคมปรับเพิ่มขึ้น 1.80% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) ซึ่งสอดคล้องกับค่ากลางของตลาด (Market consensus) และรัฐบาลญี่ปุ่นได้คาดการณ์ตัวเลขการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมว่าน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 1.10% ในเดือนกันยายน และ 2.20% ในเดือนตุลาคม ในส่วนของการเติบโตของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มเครื่องจักรทั่วไป (General Machinery) ซึ่งค่อยๆฟื้นตัวขึ้นนั้น คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 8.10% ในเดือนกันยายน และ 5.6% ในเดือนตุลาคม ขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ชี้นำอุตสาหกรรม คาดว่าจะปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ ที่ระดับ 1.4% ในเดือนกันยายน และปรับตัวลดลงที่ระดับ 1.8% ในเดือนตุลาคม
นอกจากนี้ ได้มีสัญญาณบ่งบอกว่าตัวเลขการว่างงานน่าจะถึงจุดต่ำสุดไปแล้ว เพราะอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคมปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 5.5% จากระดับ 5.7% ในเดือนกรกฎาคม และอัตราส่วนระหว่างการรับเข้าทำงาน และการสมัครงาน ไม่เปลี่ยนแปลง โดยอยู่ที่ระดับ 0.42 เท่า สำหรับตัวเลขการบริโภคในครัวเรือน ของเดือนสิงหาคม แสดงให้เห็นว่าการบริโภคหลักๆ ปรับเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) จากตัวเลขทั้งหมดนี้ อาจกล่าวได้ว่านโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นของรัฐบาลนี้ เริ่มส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น แต่ตลาดอาจยังไม่มีความมั่นใจในนโยบายของรัฐบาลใหม่มากนัก เห็นได้จาก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นยังคง underperform ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา” ดร.วินกล่าว
ดร.วินกล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Mr. Hatoyama ยังคงพยายามให้ความมั่นใจว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นมีศักยภาพที่จะสามารถเติบโตได้จากระดับ 1.0-1.5% สู่ระดับ 2.0%-2.5% ในอนาคต ด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. รัฐบาลได้ออกนโยบายเพิ่มจำนวนประชากรญี่ปุ่น โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีลูกมากขึ้น โดยจะให้เงินค่าเลี้ยงชีพ และเงินสวัสดิการ 2. นายกฯ ได้สัญญาว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทต่างๆ ลง เพื่อดึงดูด นักลงทุนกลุ่มใหม่ๆ ที่สนับสนุนเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับญี่ปุ่นที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโลก 3. นายกฯ มีแนวคิดที่จะสร้างสรรค์ “ชุมชนเอเชียตะวันออก” (East Asian Community) ซึ่งจะช่วยเร่งการขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทในประเทศญี่ปุ่นในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงได้ ดังนั้น จึงคาดว่าตลาดหุ้นในช่วงต่อไปน่าจะเริ่มรับรู้ถึงผลกระทบในด้านที่ดีจากนโยบายใหม่ของรัฐบาลชุดนี้
ดร.วินกล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ แม้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะ underperform กว่าตลาดอื่นๆ แต่ยังคงเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจลงทุน จากการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ และนโยบายทางด้านเศรษฐกิจใหม่ที่จะมีการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ อีกทั้งการที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จึงมีกำลังการบริโภคที่สูง หากนโยบายของญี่ปุ่นเริ่มส่งผลชัดเจนขึ้นจะส่งเสริมให้บรรยากาศการลงทุนในญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
สำหรับในส่วนของบลจ. แอสเซท พลัส เห็นว่านักลงทุนน่าจะกลับมาให้น้ำหนักการลงทุนในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในตลาดที่พัฒนาแล้วอื่นๆ (Developed markets) โดยแนะนำให้นักลงทุนที่สนใจในตลาดญี่ปุ่นทะยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกองทุนแอสเซทพลัสนิปปอนโกรท (ASP-NGF) ซึ่งลงทุนในกองทุน Nippon Growth Fund (กองทุนหลัก) ที่เน้นลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ญี่ปุ่น (Tokyo Stock Exchange)
ทั้งนี้ Nippon Growth Fund ใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุก เน้นการกระจายการลงทุนตามกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector Allocation) และการคัดเลือกหลักทรัพย์รายตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานดี (Stock Selection) ซึ่งคาดว่าหากภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัว ก็จะส่งผลดีต่อหลักทรัพย์ที่กองทุน Nippon Growth Fund ลงทุนอยู่
ทั้งนี้ ณ 22 ตุลาคม กองทุนแอสเซทพลัสนิปปอนโกรท (ASP-NGF) อยู่ที่ 12.20% ขณะที่ดัชนี Nikkei ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ซึ่งส่วนต่างของผลการดำเนินงานเกิดจากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินเยนที่มีการปรับตัวประมาณ 5% ในปี 2552” ดร.วิน กล่าว
ตารางแสดงผลการดำเนินงานกองทุนเปิดแอสเซทพลัสนิปปอนโกรท (ASP-NGF) ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2552
(1) สัดส่วนระหว่าง NIKKEI 225 Index สกุลเงินเยน (80%) และ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี สำหรับวงเงิน 1 ล้านบาท เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ (20%)
เอกสารการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมฉบับนี้ ได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติม
ผู้ลงทุนทั่วไป : Call Center 02-672-1111
สื่อมวลชน : ส่วนงานประชาสัมพันธ์ มุกพิม จุลพงศธร โทร. 02-672-1000 ต่อ 3308
อีเมล์: mookpim_ch@assetfund.co.th