ฟิทช์: ความยุ่งยากทางการเมืองส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโต แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday September 5, 2006 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้กล่าวว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทยกำลังส่งผลกระทบต่อภาพรวมในอนาคตของอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังไม่ถึงระดับที่จะทำให้ทางฟิทช์ต้องเปลี่ยนแปลงระดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ในระหว่างการสัมมนาประจำปีของฟิทช์ในกรุงเทพฯ ซึ่งเน้นถึง “ความเสี่ยงในระดับภูมิภาค ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย และความเสี่ยงของภาคธุรกิจธนาคาร ในปี 2550” นักวิเคราะห์ของฟิทช์ ได้กล่าวว่า ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองสามารถคลี่คลายไปในทางที่ดีได้ในปีนี้ ทางฟิทช์ยังคงมีความเห็นในเชิงบวก แต่ยังคงความระมัดระวังเกี่ยวกับการพลิกฟื้นของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่ธนาคารต่างๆน่าจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีและสามารถจำกัดการเสื่อมถอยและปัญหาทางด้านคุณภาพของสินทรัพย์
ในการบรรยายเกี่ยวกับแนวโน้มของสภาพเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทยและของภูมิภาคเอเชีย James McCormack ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมจัดอันดับเครดิตของประเทศ (“Sovereigns”) แห่งเอเชีย ได้ชี้ให้เห็นแง่มุมหนึ่งจากหลายๆแง่มุมที่กล่าวเอาไว้ระหว่างการบรรยายว่า ความแข็งแกร่งจากปัจจัยภายนอกประเทศกำลังช่วยลดทอนผลกระทบที่ไม่ดีจากสภาวะทางการเมืองอันไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทย Mr. McCormack กล่าวว่า “อันดับเครดิตของประเทศไทยยังคงถูกสนับสนุนโดยการลดลงอย่างสม่ำเสมอของหนี้ภาครัฐ และฐานะสภาพคล่องต่างประเทศ (“External Liquidity Position”) ที่แข็งแกร่ง โดยเงินสำรองระหว่างประเทศได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 60 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ” อย่างไรก็ตาม Mr. McCormack ยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์ทางการเมือง “ความน่าเชื่อถือและความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุนได้ถดถอยลง และการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ (“Mega Projects”) ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เกิดขึ้นตามแผนของรัฐบาล” ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นในช่วงหลังของปีนี้ ฟิทช์คาดการณ์ว่า อัตราการเจริญเติบโตของผลผลิตรวมภายในประเทศ (“Gross Domestic Product” หรือ “GDP”) จะฟื้นตัวขึ้นในปี 2550 อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สภาพทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอนในขนาดนี้ได้ยืดเยื้อต่อไปอีก ก็อาจจะทำให้ฟิทช์ทำการทบทวนภาพรวมในระยะปานกลางของอัตราการเจริญเติบโตของประเทศไทย และสภาพการเมืองที่ยืดเยื้อนี้อาจจะส่งผลกระทบอันร้ายแรงต่อตลาดและภาคธุรกิจการเงินด้วย
ในระหว่างการบรรยายเกี่ยวกับธนาคารและบริษัทเงินทุนต่างๆในประเทศไทย David Marshall ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิเคราะห์สถาบันการเงินแห่งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค ได้ตั้งข้อสังเกตว่าคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมได้ถดถอยลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในปี 2549 ทั้งๆที่ยังมีความยุ่งยากทางการเมืองและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงของประเทศ Mr. Marshall ได้กล่าวว่า “โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารไทยขนาดใหญ่ได้รายงานผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง บางธนาคารได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มธนาคารที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงสุดในภูมิภาคเอเชียจากการจัดอันดับในระดับภูมิภาคของฟิทช์ในปี 2548 ถ้าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจพลิกฟื้นในปี 2550 ตามที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ ธนาคารต่างๆน่าจะยังคงรายงานผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและปัญหาทางด้านคุณภาพสินทรัพย์ต่างๆน่าจะปรากฏว่ามีอยู่อย่างจำกัดและถือว่าเป็นปัญหาระยะสั้น” อย่างไรก็ตาม Mr.Marshall ยังคงเตือนถึงความไม่แน่นอนต่างๆที่อาจมีต่อเนื่องซึ่งน่าจะส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้ซบเซาลงตั้งแต่ปี 2548 หลังจากการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของราคาอสังหาริมทรัพย์ในระยะเวลา 2 ปีก่อนหน้า และผู้ปล่อยสินเชื่ออาจจะต้องเผชิญกับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้จากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้กู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยรายย่อย
ในการประเมินแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ ฟิทช์เล็งเห็นว่าในขณะนี้ มีการถดถอยที่เห็นชัดเจนขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งการถดถอยนี้ได้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินเชื่อเช่าซื้อ ทั้งในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อสินค้าที่ไม่ใช่รถยนต์ การถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อเช่าซื้อเกิดขึ้นจากการแข่งขันที่รุนแรงซึ่งได้นำไปสู่การผ่อนปรนมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ผลกระทบของแนวโน้มเช่นนี้ต่อกลุ่มบริษัทเงินทุนและธนาคารขนาดเล็กจะมีนัยสำคัญมากกว่าผลกระทบที่มีต่อกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ฟิทช์ยังได้เห็นตัวเลขอ้างอิงถึงการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตที่สูงขึ้น แต่ระดับการผิดนัดชำระหนี้นี้ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล ถึงแม้ว่าแนวโน้มของการผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำจะอยู่ในระดับที่น่ากังวล ฟิทช์ยังได้พิจารณาถึงระดับหนี้สินของภาคครัวเรือนในประเทศไทยที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำ (หนี้สินต่อรายได้ของภาคครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 58% ในปี 2547) นอกจากนั้น ประสบการณ์ในตลาดอื่นๆซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางด้านการปล่อยกู้ให้ผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่นในประเทศเกาหลี และประเทศไต้หวัน ทิ่เพิ่งผ่านมาเร็วๆนี้ ได้กระตุ้นเตือนว่า ตัวเลขโดยรวมที่ดูเหมือนว่าจะเป็นระดับที่ไม่สูงมาก ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถจำกัดความเป็นไปได้ของการกู้ยืมในระดับที่สูงเกินควรและส่งผลถึงการผิดนัดชำระที่ร้ายแรงโดยผู้กู้บางรายในที่สุด
ส่วนในระดับภูมิภาคที่กว้างขึ้น Mr. McCormack ชี้ให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียยังคงอยู่ในสภาวะที่ยังสามารถตั้งรับกับอุปสงค์จากต่างประเทศที่จะลดลงในอนาคตข้างหน้าท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น Mr. McCormack ยังกล่าวว่า “ปัจจัยชี้นำของภาคส่งออกได้ชี้ให้เห็นถึงอัตราการเจริญเติบโตที่น่าจะอ่อนแอลงในหลายเดือนข้างหน้า ไม่ใช่แต่อัตราการเจริญเติบโตของประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอัตราการเจริญเติบโตของประเทศในกลุ่มองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (“Organization for Economic Co-operation and Development” หรือ “OECD”) ฟิทช์คาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตของผลผลิตรวมภายในประเทศของโลก (“Global GDP Growth”) จะลดลงสู่ระดับ 3.2% ในปี 2550 จาก 3.5% ในปี 2549 ส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อัตราการเจริญเติบโตได้รับการคาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 2.6% จาก 3.2% ทางฟิทช์เชื่อว่าอัตราการเจริญเติบโตของการส่งออกของประเทศในเอเชียจะสามารถดำเนินอยู่ต่อไปได้โดยได้รับการสนับสนุนจากอุปสงค์ของประเทศจีนอย่างน้อยในระยะเริ่มต้นของการถดถอยของวงจรเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็เป็นปัจจัยในการประเมินสภาวการณ์ในอนาคตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในระยะสั้น ธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาคเอเชียค่อนข้างจะดำเนินการช้าในช่วงแรกในการดำเนินนโยบายทางการเงินตามประเทศสหรัฐอเมริกา แต่อัตราดอกเบี้ยตอนนี้เพิ่มสูงขึ้นทั้งภูมิภาคโดยเฉพาะในฮ่องกงและประเทศไทย ฟิทช์กล่าวว่า ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น อัตราการเจริญเติบโตของสินเชื่อของประเทศต่างๆในภูมิภาคยังอยู่ในระดับที่ต่างๆกันไป ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเป็นพิเศษ ภายในภูมิภาคนี้
ติดต่อ: James McCormack, Hong Kong, +852 2263 9925/ james.mccormack@fitchratings.com ; David Marshall, +852 2263 9911/ david.marshall@fitchratings.com ; Vincent Milton, Bangkok, +662 655 4759/ vincent.milton@fitchratings.com
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ