กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
พระพจนารถ ปภาโสรองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน
สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
พระราชวิริยอุตสาหะ ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทุ่มเทผ่านโครงการพระราชดำริ ด้วยทรงมุ่งหวังให้พระราชปณิธาน ที่ทรงประกาศเป็นพระปฐมพระบรมราชโองการ ว่า “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ” ได้เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนชาวไทยมาตลอดรัชสมัย แม้ในยามที่ทรงมีพระอาการประชวร พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ มิได้ละเลยพระราชหฤทัยให้ ห่างเหินไปจากพระราชกรณียกิจที่จะทำให้พระราชปณิธานได้บรรลุผล
ความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของคนไทยผู้จงรักภักดี ย่อมนำให้ทุกคนยอมรับให้พระองค์ทรงเป็นบุรพการีชนของตน อนิจจา...ความเป็นคนไทยในยุคปัจจุบัน ที่ห่างเหินจากพุทธธรรม อันเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมประเพณีไทย ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไร้สำนึกแห่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ อาจมีเสียงแย้งว่า ความจงรักภักดีที่มีเต็มเปี่ยมอยู่ในใจ และพร่ำกล่าวต่อสาธารณชนเสมอว่า “ รักในหลวง ”
ความจริงที่เห็นคือคนไทยนี่เอง....ที่เป็นสาเหตุนำให้พระองค์ปรากฏพระอาการประชวรได้บ่อยครั้งขึ้น พระชนมายุที่สูงวัยมากขึ้น กลับต้องทรงประสบกับปัญหาของคนไทยที่เพิ่มทวีคูณมากขึ้น ยากที่สามัญชนคนไทยจะรับรู้ความเป็นไปในพระราชหฤทัยของพระองค์ ไม่อาจเปรียบเทียบกับสิ่งใดได้เลย รอยพระสรวลที่เคยปรากฏ จักหวนคืนมาอีกหรือไม่หนอ?
ด้วยตระหนักถึงความมั่นคงในการรักษาความเป็นไทยให้คงอยู่กับคนไทยบนพื้นแผ่นดินไทย คณะสงฆ์ไทย ภายใต้การบริหารของมหาเถรสมาคม จึงมุ่งมั่นที่จะเผยแผ่ความรู้ในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องให้แก่คนไทย ซึ่งเป็นงานที่พระมหาเถระผู้เป็นบูรพาจารย์ได้ถือเป็นสมณกิจบำเพ็ญสืบเนื่องมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย บางยุคสมัยพระสงฆ์จักต้องทรงภูมิความรู้ในสรรพศาสตร์ที่จำเป็นต้องการรักษาแผ่นดินให้คงอยู่สืบต่อมา คนไทยต่างยึดวัดเป็นแหล่งแห่งการเรียนรู้หลักวิชาในการดำเนินชีวิต ตราบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ที่นำคนไทยให้พ้นห่างจากวัด ไปสู่วิถีทางแห่งการศึกษาที่มุ่งเน้นแต่ความรู้ในการดำเนินชีวิต อันเป็นผลให้เกิดความเจริญทางวัตถุ มากกว่าความเจริญทางด้านจิตใจ
ด้วยความตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อรักษาภูมิปัญญาที่เป็นรากเหง้าของสังคมไทย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรงดำริสร้าง หลักสูตรอบรมภิกษุสามเณรขึ้น ที่เรียกกันสืบมาว่า “ หลักสูตรนักธรรม ” เพื่อพัฒนาภิกษุสามเณรให้เป็นผู้มีความรู้ในพระพุทธศาสนา สามารถเผยแผ่พุทธธรรมให้เกิดสุขประโยชน์แก่ชุมชนได้ ต่อมาฆราวาสผู้ สนใจใฝ่ศึกษาในพระพุทธศาสนา ได้เรียนหลักสูตรนักธรรมด้วย จึงได้ขอให้มหาเถรสมาคมได้จัดหลักสูตรแก่ฆราวาสด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงพระกรุณาให้จัดหลักสูตรธรรมศึกษาขึ้น สำหรับฆราวาส มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ คณะสงฆ์ในยุคต่อมาได้พัฒนาหลักสูตรทั้งสอง ให้มีความเหมาะสมกับสภาพการศึกษาของประเทศ และสมเด็จพระสังฆราช ผู้เป็นประมุขแห่งสงฆ์ โปรดให้มีการจัดสอบความรู้ตามหลักสูตรทั้งสอง เสมอมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับนักเรียนธรรมศึกษา คงต้องปฏิบัติตนตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการศึกษาที่จะช่วยให้บรรลุถึงจุดหมาย ความว่า “... ผู้ที่มุ่งหวังความดีและความเจริญมั่นคงในชีวิตจะต้องไม่ละเลยการศึกษา ความรู้ที่จะศึกษามี ๓ ส่วน คือ ความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการ และความรู้คิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริง อีกประการหนึ่งจะต้องมีความจริงใจและบริสุทธ์ใจไม่ว่าในงานในผู้ร่วมงานหรือในการรักษา ระเบียบแบบแผน ความดีงาม ความถูกต้องทุกอย่าง ประการที่สามต้องฝึกฝนให้มีความหนักแน่นทั้งภายในใจ ในคำพูด ...” (๒๔ มกราคม ๒๕๓๐) นี่จักทำให้ได้รับรู้ถึงภารธุระที่ลำบากยิ่งของพระสงฆ์ผู้เป็นครูสอนธรรมให้ อันสอดคล้องกับพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่บัณฑิจมหาวิทยาลัยศรีนครินทวโรฒ มหาสารคาม เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๙ ความว่า “ การให้การศึกษาเป็นงานที่ละเอียด ซับซ้อน และกว้างขวางมาก จะต้องกระทำโดยอาศัยความรู้ ความสังเกตจดจำ และความฉลาดรอบคอบอย่างสูง ทั้งต้องอาศัยความเสียสละอดทน ความเพียรพยายาม ความสุจริต และความเมตตาอันกว้างขวางพร้อมกัน จึงจะสำเร็จผลที่พึงประสงค์ได้...”
การขาดความรู้ในพระพุทธศาสนา ย่อมทำให้ขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ที่ทรงตรัสเพื่อเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิต นี่จึงเป็นเหตุให้บัณฑิตผู้ได้รับพระราชทานพระบรมราโชวาทบางคนได้กระทำการบางอย่าง ด้วยอำนาจแห่งกิเลสตัณหาในจิตใจของตน อันส่งผลให้เกิดความประพฤติมิชอบในตำแหน่งหน้าที่การงาน นำให้เกิดความทุกข์ระทมขึ้นในแผ่นดิน เป็นเหตุให้มีคนกล่าวว่าเขาเป็นคนเนรคุณแผ่นดินได้ในที่สุด
คนที่ไม่มีความรู้ในพระพุทธศาสนา แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพุทธศาสนิกชน ถ้าได้บริหารราชการแผ่นดิน หรือองค์กรเอกชน ย่อมสร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติได้อย่างรุนแรง เหมือนดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน
แม้คณะสงฆ์จะสามารถสอนธรรมศึกษาแก่พุทธศาสนิกชน ได้ปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่จำนวนธรรมศึกษาที่สำเร็จหลักสูตร ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรมประเพณีของชาติ จนสามารถสร้างความวัฒนาสถาพรให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติได้ แม้จะรู้ว่าเป็นการยากที่จะสอนบุคคลให้มีธรรมาภิบาลในกาลอันสั้น ด้วยความคิดที่ว่าตะกอนความรู้ที่ตกผลึกในจิตใจของผู้เรียน จะส่งผลให้ธรรมา-ภิบาลได้งอกงามในจิตใจของเขาในกาลต่อมา ทำให้คณะสงฆ์จึ่งมุ่งรับภาระนี้สืบเนื่องตลอดมา สมกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบภารธุระในการพระพุทธศาสนาไว้แก่คณะสงฆ์
ปีการศึกษา ๒๕๕๒ พระสงฆ์ทั่วประเทศได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญา และ งบประมาณ สอนธรรมศึกษาแก่พุทธศาสนิกชนรวมทั้งสิ้น ๑,๙๐๖,๘๗๓ คน และมหาเถรสมาคมได้กำหนดให้มีการจัดสอบความรู้ธรรมศึกษาพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ และสอบ ความรู้นักธรรมชั้นโท — เอกในวันที่ ๔ — ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
ระยะเวลานั้น ตรงกับกาลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจากโรงพยาบาลศิริราช มาประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
เหตุนี้ จึงขอเชิญชวนภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบนักธรรมชั้นโท — เอก จำนวน ๑๗๗,๒๔๘ รูป นักเรียนสอบธรรมศึกษา ๑,๙๐๖,๘๗๓ คน รวมทั้งสิ้น ๒,๐๘๔,๑๒๑ รูป / คน ตลอดถึงพระเถรานุเถระ และพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมกันสามัคคีตั้งสัตยาธิษฐาน ขอผลานิสงส์อันตนได้บำเพ็ญในการสอบธรรมครั้งนี้ จงร้อยรวมเป็นพระราชกุศลที่อำนวยศุภอรรถมนุญผล ดลบันดาลให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระราชสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ และให้ทรงถึงความสมพระราชปรารถนาโดยทุกประการ ตลอดกาลเป็นนิตย์เทอญ.
นี่ จักทำให้เกิดความภาคภูมิใจเป็นเบื้องต้นว่า เราเป็นผู้มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเราจักทำหน้าที่ของตนด้วยพุทธธรรมที่ได้ศึกษามา เพื่อให้เกิดสุขประโยชน์ในการดำเนินชีวิต อันส่งผลเป็นสามัคคีธรรม ที่อำนวยผลให้ประเทศไทยมีความวัฒนาสถาพรสืบไป เมื่อรำลึกเหตุการณ์ครั้งนี้ถึงคราใด ก็จักรู้สึกว่า เราเป็น ๑ ใน สองล้านรูป/คน ที่สอบธรรมเพื่อในหลวง
นี่ละ งานธรรมศึกษา....งานเล็กๆ ที่พระทำ.....แต่เป็นงานใหญ่ของสังคม ที่จะมีผลมหาศาลต่อความวัฒนาสถาพรของประเทศไทยตลอดไป
การสอบธรรมสนามหลวง ปีการศึกษา ๒๕๕๒ ใช้สนามสอบทั่วประเทศ ๓,๗๘๕ สนาม ซึ่งใช้โรงเรียนเป็นสนามสอบ ๒,๔๔๓ แห่ง วัด ๑,๑๒๙ แห่ง กรมราชทัณฑ์ ๑๓๔ แห่ง สถาบันอุดมศึกษา ๔๑ แห่ง สถาบันอาชีวศึกษา ๓๓ แห่ง และสถาบันเอกชน ๕ แห่ง.