กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.
จากกรณีมีทากทะเลจำนวนมาก ลอยมาติดชายฝั่ง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่สะพานปลาหน้าเมือง จนถึงหาดบ้านม่องล่าย ระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ผศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทากทะเลที่พบ เป็นทากทะเลที่อยู่ในกลุ่ม Anastidea เป็นหอยไม่มีเปลือก ที่มักอาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเลที่ไม่ใช่แนวปะการัง ชอบกินสาหร่ายเป็นอาหาร ส่วนสาเหตุที่มีการตายจำนวนมากในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า หากทากทะเลที่พบอยู่บนชายหาดยังมีชีวิตอยู่ระยะหนึ่งแล้วตาย แสดงว่าถูกกระแสน้ำพัดพาขึ้นมา เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงมรสุม คลื่นลมแรง แต่หากทากทะเลที่ลอยขึ้นมาเสียชีวิตอยู่แล้ว แสดงว่าสภาพแวดล้อมในแหล่งอาศัยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น ความเค็มของน้ำ โดยช่วงนี้มีปริมาณน้ำฝนตกลงมาจำนวนมาก อาจมีผลให้ระดับความเค็มของน้ำทะเลลดลง ซึ่งทากทะเล แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความทนต่อปัจจัยแวดล้อมมากพอสมควร แต่หากความเค็มลดน้อยลงมาก ก็จะตายได้ เช่นเดียวกับเมื่อไม่นานมานี้ มีเหตุการณ์ปลาตายจำนวนมากที่บริเวณหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี เนื่องจากระดับความเค็มของน้ำทะเลลดลง อย่างไรก็ดี ทากทะเลเป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตเพียง 1 ปี เท่านั้น ดังนั้นหากทากที่พบส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มวัย ก็เป็นไปได้ว่าอาจตายเพราะครบรอบวงจรชีวิตของมัน
นอกจากนี้ (วันที่ 29 มีนาคม) ยังมีรายงานข่าวว่าชาวประมงพบปลาตายจำนวนมาก บริเวณชายหาดบางแสน-หาดวอนนภา เป็นครั้งที่ 2 แต่ครั้งนี้ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่าไม่ได้มีฝนตกหนักอย่างกรณีที่ผ่านมา ซึ่ง ดร.สุเมตต์ ปุจฉาการ นักวิชาการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี กล่าวว่า สาเหตุที่ปลาตายจำนวนมากครั้งนี้ อาจจะเกิดจากอิทธิพลของน้ำจืด อาทิ แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกงไหลเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำทะเลอย่างฉับพลัน แม้ว่าฝนในพื้นที่จะไม่ตกมาหลายวันก็ตาม แต่การที่น้ำจืดในแม่น้ำทั้ง 4 สายไหลเข้ามา ก็ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ เป็นเหตุให้ปลาปรับตัวไม่ทัน หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ปลาเมาน้ำ” ซึ่งลักษณะของการลอยขึ้นมาที่ชายหาดน้ำจะเป็นความปกติของช่วงปลายฝนต้นหนาว
“ปลาน้ำเค็มจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมปริมาณเกลือแร่ในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณเหงือกซึ่งใช้ในการหายใจ ซึ่งหากมีปริมาณน้ำจืดมาก ก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ช็อคตายได้ ทั้งนี้อยากฝากไปยังประชาชนที่จับปลาว่า หากเป็นปลาเล็กๆ ไม่ควรจับมาบริโภค ควรปล่อยให้ปลาฟื้นตัวก่อน เพราะเมื่อปลาลอยขึ้นที่ผิวน้ำสักระยะหนึ่งเมื่อน้ำทะเลสูงขึ้น ปลาสามารถปรับความเค็มในร่างกายได้ก็จะสามารถว่ายน้ำกลับลงไปในที่ที่มีอุณหภูมิความเค็มที่เหมาะสมได้” นายสุเมธ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามประชาชนที่จับปลามาบริโภคนั้นสามารถรับประทานได้ถ้าไม่ใช่ปลามีพิษอย่างปักเป้า นอกจากนั้นแล้วควรดูด้วยว่าสาเหตุที่ปลาลอยขึ้นมานั้นไม่ได้เกิดจากถูกสารพิษจากอุบัติเหตุคราบน้ำมันจากเรือประมงรั่วไหล ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นไม่ควรนำมาบริโภค นอกจากนี้เมื่อจับปลามาแล้วไม่ควรเก็บไว้นานเกินไปเพราะเมื่อปลาถูกอุณหภูมิความร้อนจะเกิดการเน่าเสีย เพราะในน้ำทะเลจะมีแบคทีเรียที่เรียกว่า “วิบริโอ” (Vibrio) ซึ่งเมื่อประชาชนนำปลาที่เริ่มมีกลิ่นเหม็นมาบริโภค จะทำให้เกิดโรคท้องร่วงได้
หมายเหตุ : ข้อมูลต้นข่าวจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด และผู้จัดการออนไลน์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 ,1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : thaismc@nstda.or.th