กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--ก.ไอซีที
นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอผลการศึกษาและแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับกระบวนการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ ของประเทศไทย” ภายใต้โครงการบริหารจัดการและประสานงานการพัฒนาระบบ e-Logistics ของหน่วยงานภาครัฐ ว่า ปัจจุบันแนวโน้มการแข่งขันมีความเข้มข้นขึ้น เนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่มีการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้ภาคธุรกิจต้องยกระดับความสามารถในการดำเนินธุรกิจในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ ทั้งการลดต้นทุนธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ เสนอลูกค้า การบริหารจัดการกระบวนการนำส่งสินค้าจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคหรือโลจิสติกส์ จึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่ผู้ประกอบการใช้เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งในระดับธุรกิจและระดับประเทศ
“ที่ผ่านมาหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ ของไทย ได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นหน่วยงานหลักเพื่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ ในการเร่งรัดการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลและบริการภาครัฐ เพื่อการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ โดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนารายการข้อมูลมาตรฐาน การพัฒนาระบบเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงาน และการพัฒนาระบบสนับสนุน หรือ Back Office โดยกระทรวงฯ ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการและประสานงานการพัฒนาระบบ e-logistics ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อผลักดันให้การพัฒนาระบบ e-logistics ของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกด้านการค้า และระบบสนับสนุน หรือ Back Office ของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้” นายธานีรัตน์ กล่าว
สำหรับการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอผลการศึกษาทั้งหมด และประชาสัมพันธ์โครงการสร้างความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับกระบวนการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ของประเทศไทย รวมทั้งเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญถึงแนวคิดการใช้งานระบบอำนวยความสะดวกด้านการค้า (National Single Window) เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ของไทยให้มากขึ้น
“กระทรวงฯ มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งเป็นผู้บริหาร และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา จำนวน 300 คน ได้เข้าใจในแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับกระบวนการนำเข้า-ส่งออก และโลจิสติกส์ของประเทศไทย และสร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวคิดการใช้งานระบบอำนวยความสะดวกด้านการค้า หรือ National Single Window ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ของไทย รวมทั้งช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานของผู้ประกอบการให้มากขึ้น และกระทรวงฯ ยังได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากการสัมมนาฯ เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงแผนงานโครงการต่างๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้ และนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในลำดับต่อไป” นายธานีรัตน์ กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 ก.ไอซที