ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับเกณฑ์คำสั่งซื้อขาย ณ ราคาเปิดและราคาปิดพร้อมเปิดรับคำสั่ง Basket Order และ VWAP เริ่ม 3 ก.ค. 49

ข่าวทั่วไป Wednesday June 7, 2006 08:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ
นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การซื้อขายหลักทรัพย์เกี่ยวกับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนและเพิ่มความน่าสนใจให้ตลาดหุ้นไทย โดยจะทำให้มีเครื่องมือที่จะช่วยบริหารจัดการการลงทุนของผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุน โดยการปรับปรุงเกณฑ์การซื้อขายหลักทรัพย์ที่จะเริ่มมีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2549 นี้ ได้แก่การเปลี่ยนแปลงลำดับในการจับคู่คำสั่งซื้อขาย ณ ราคาเปิด (At-the-Open: ATO) และคำสั่งซื้อขาย ณ ราคาปิด (At-the-Close: ATC) การอนุญาตให้ส่งคำสั่งแบบ Basket Order หรือคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายประเภทกลุ่มหลักทรัพย์ที่ประกอบด้วยคำสั่งย่อยหลายหลักทรัพย์ในคราวเดียวกัน และการอนุญาตให้ส่งคำสั่งซื้อขายที่เป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก VWAP ในลักษณะทยอยส่งคำสั่งโดยอัตโนมัติ (Volume Weighted Average Price of Program Trading)
"การเปลี่ยนแปลงลำดับในการจับคู่ของคำสั่ง ATO และ ATC ให้มีสิทธิได้รับการจับคู่ก่อนคำสั่งประเภทระบุราคา จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน เนื่องจากจะช่วยให้ผู้ลงทุนที่ต้องการซื้อขายหลักทรัพย์ ณ ราคาเปิดหรือราคาปิด สามารถใช้คำสั่งซื้อขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผู้ลงทุนไม่ต้องส่งคำสั่งประเภทระบุราคาซึ่งอาจสูงหรือต่ำกว่าภาวะตลาดและการได้รับสิทธิจับคู่ซื้อขายก่อนยังสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของผู้ลงทุนที่ยอมรับที่จะซื้อขาย ณ ระดับราคาเปิดหรือราคาปิดใด ๆ ที่เกิดขึ้น" นายสุทธิชัยกล่าว
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงลำดับในการจับคู่ดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อวิธีคำนวณราคาเปิดหรือปิดของหลักทรัพย์ตามเกณฑ์เดิม แต่จะมีผลทำให้คนที่ได้รับสิทธิจับคู่และปริมาณหุ้นที่ได้รับการจับคู่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังสามารถส่งคำสั่งซื้อขายประเภท ATO และ ATC ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ โดยคำสั่งประเภทนี้จะมีระบบคัดกรองคำสั่ง (Order Screening System) เช่นเดียวกับคำสั่งซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ เพื่อป้องกันปัญหาการส่งคำสั่งไม่เหมาะสม
"ในขณะที่คำสั่งแบบ Basket Order และ VWAP จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่บริษัทสมาชิกในการจัดการคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้า และยังเป็นเครื่องมือที่จะช่วยบริหารความเสี่ยงของผู้ลงทุน นอกจากนี้ ยังเป็นการยกระดับตลาดหุ้นไทยให้มีความเป็นสากลยิ่งขึ้น เนื่องจากจะเป็นเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนในประเทศ ผู้ลงทุนต่างประเทศ และผู้ลงทุนสถาบัน" นายสุทธิชัย กล่าว
การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะเป็นกลุ่มหลักทรัพย์ในคราวเดียวกันหรือ Basket Order สามารถรองรับการทำธุรกรรมจากส่วนต่างของดัชนีราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ กับราคาอินเด็กซ์ฟิวเจอร์สในตลาดตราสารอนุพันธ์ หรือที่เรียกว่า Index Arbitrage การบริหารความเสี่ยงของการลงทุนหรือ Hedging รวมทั้งเอื้อต่อการบริหารพอร์ตของบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนที่ลงทุนในกองทุนที่อ้างอิงผลตอบแทนจากดัชนี (Index-linked fund) ดังนั้น จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบัน และการพัฒนาตลาดอนุพันธ์
บริษัทสมาชิกที่ต้องการส่งคำสั่งซื้อขายแบบ Basket Order สามารถคีย์คำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์หลายหลักทรัพย์ และส่งคำสั่งทั้งหมดเข้ามาพร้อมกันในคราวเดียว โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นหุ้นสามัญในดัชนี SET50 ต้องมีจำนวนหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 10 หลักทรัพย์ ต้องมีมูลค่ารวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท และราคาที่ระบุในคำสั่งซื้อขายจะต้องอยู่ในช่วง + 2% ของราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์ทั้งนี้ เพื่อมิให้คำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์หรือตลาดโดยรวม
สำหรับคำสั่งซื้อขายโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ประเภท VWAP (Volume Weighted Average Price) นั้น โปรแกรม VWAP เป็นชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ที่ใช้สร้างและส่งคำสั่งซื้อขายโดยอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ ณ ราคาที่เท่ากับ หรือใกล้เคียงราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักประจำวันของหลักทรัพย์นั้นๆ ในตลาด (Volume Weighted Average Price)
"การอนุญาตให้โบรกเกอร์ใช้โปรแกรมประเภท VWAP ช่วยคำนวณและส่งคำสั่งซื้อขายได้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัทสมาชิกในการจัดการคำสั่งซื้อขายของลูกค้า ที่กำหนดราคาเป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักจากราคาตลาดของหลักทรัพย์นั้น ๆ การปรับปรุงเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ครั้งนี้ จึงนับเป็นการอำนวยความสะดวกให้ทั้งบริษัทสมาชิก และผู้ลงทุน ซึ่งจะมีผลให้ผู้ลงทุนได้รับความสะดวกจากการลงทุน นับเป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยมากยิ่งขึ้น" รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ