ความจำเป็นของธุรกิจกับการบริหารความเสี่ยง

ข่าวทั่วไป Monday November 2, 2009 15:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--คอร์ แอนด์ พีค ความจำเป็นของธุรกิจกับการบริหารความเสี่ยง โดย.ดร.สุวิทย์ ธนียวัน ผู้อำนวยการวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(วิทยาเขตกรุงเทพ) ในแง่ของการทำธุรกิจอัตราการเจริญเติบโตและกำไรถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders)อย่างไรก็ดี การเน้นความเจริญเติบโต โดยมีเป้าประสงค์เพื่อการทำกำไรหรือได้กำไรก้อนโตโดยปราศจากการควบคุมความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยง มักก่อให้เกิดผลเสียกับการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป การทำความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทน (risk and reward) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเอื้ออำนวยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายและสามารถยืดหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงในระยะยาวได้ ในการดำเนินธุรกิจองค์กรที่ใช้หลักความพอเพียงพอประมาณและมีเหตุผลในการคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล และมีการเตรียมการจัดการความเสี่ยงด้วย “ระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี” ให้พอเพียงพร้อมกับผลกระทบและเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอก ย่อมจะสามารถเจริญเติบโตและนำพาองค์กรให้ฝ่าฝันวิกฤติต่างๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ได้เป็นอย่างดี ความเสี่ยง(risk)หมายถึงสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลเสียต่อการดำเนินการขององค์กร การประเมินความเสี่ยง และการหาเครื่องเตือนภัย (Risk Alert หรือ Early Warning Systems) จึงถือเป็นหลักการสำคัญของการบริหารความเสี่ยง โดยทั่วไปแล้วความเสี่ยงสามารถจำแนกออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้คือ 1. ความเสี่ยงด้านการตลาด (Market risk) 2. ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk) 3. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity risk) 4. ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน (Operational risk) 5. ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและกฎหมาย (Legal and Regulatory risk) 6. ความเสี่ยงด้านธุรกิจ (Business Risk) 7. ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) 8. ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (Reputation risk) ความเสี่ยงด้านการตลาด (market risk) หมายถึง ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงของสินค้า ราคาสินค้า อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ความผันผวนของราคาหุ้น ตลอดจนความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อันจะมีผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของสินเชื่อและคุณภาพของสินทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันสินเชื่อ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปคุณภาพหรือมูลค่าของสินเชื่อและทรัพย์สินที่เปลี่ยนไปย่อมมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของผู้ให้สินเชื่อ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการระดมเงินเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของเงินในการชำระเงินหรือหนี้สินทั้งปวง ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน (operational risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานอันได้แก่ ความผิดผลาดที่เกิดขึ้นจากการบริหาร จากการขาดระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ขาดบรรษัทภิบาลในการดำเนินงานตลอดจน การดำเนินงานที่ไม่โปร่งใสและการฉ้อโกง เป็นต้น ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและกฎหมาย (Legal and Regulatory risk) หมายถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจในกฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ตราสารอนุพันธ์ หรือมีความรู้ไม่เท่าทันกฎหมายต่างๆ ซึ่งอาจเกิดผลเสียจากการถูกฟ้องร้องได้ เป็นต้น ความเสี่ยงด้านธุรกิจ (Business Risk) หมายถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ เช่น การเปลี่ยนแปลงของความต้องการหรืออุปสงค์ หรือต้นทุนการผลิตรวมตลอดจนถึง ความสามารถในการจัดส่งสินค้าต่างๆ ให้ถึงมือผู้บริโภคหรือคู้ค้า เป็นต้น ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีนัยสำคัญต่อองค์กร ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ถึงความสำเร็จและผลกำไร ได้อย่างชัดเจน จากการลงทุนไม่เป็นไปตามความคาดหมาย องค์กรจะประสบปัญหาค่อนข้างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านชื่อเสียง ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (Reputation risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความไม่โปร่งใสในการดำเนินงานขององค์กร เช่นการตกแต่งบัญชี การฉ้องโกงในบริษัทที่มีผลต่อผู้ถือหุ้น ผู้ให้กู้ และพนักงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์กรในประเทศหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ.1990 จากการสำรวจจะพบว่าความเสี่ยง (Risk Management) จึงมีความสำคัญเป็นอย่งมากแม้ว่าองค์กรจะต้องลงทุนในด้านการดูแลบริหารความเสี่ยง แต่เราจะพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการขาดหน่วยงานบริหารความเสี่ยงแล้ว ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมักจะเทียบไม่ได้กับเงินลงทุนในการดูแลจัดการความเสี่ยงดังกล่าว หลักการในการบริหารความเสี่ยงจึงต้องอาศัย หลักในการหาเครื่องเตือนภัย Early Warning System หรือ Risk Alert โดยการ 1. พิจารณาหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น Identify Risk 2. พิจารณาประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้น Measure and Estimate Risk Exposures 3. พิจารณาหาเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ป้องกันหรือลดความเสี่ยง (Instruments to shift or Trade Risks) 4. เปรียบเทียบต้นทุนและประโยชน์ของเครื่องมือที่ทำมาลดความเสี่ยง 5. พิจารณาหากลยุทธ์ในการลดความเสี่ยง Risk Mitigation Strategy อันได้แก่ 5.1 Avoid หรือเลี่ยงความเสี่ยงนั้นๆ 5.2 Transfer ผลักภาระความเสี่ยงออกไปโดยใช้เครื่องมือในการผลักภาระ 5.3 Mitigate ลดความเสี่ยงจากการดำเนินงานโดยการป้องกันหรือ ทำตัวชี้วัดเพื่อควบคุมความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น 5.4 Keep หรือ Accept Risk ยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ในปัจจุบันการบริหารความเสี่ยงสามารถกระทำได้โดยการทำความเข้าใจกับลักษณะของธุรกิจและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง (Business Implication / Risk) ซึ่งแต่ละองค์กรและอุตสาหกรรมที่ต่างกัน ย่อมมีลักษณะที่แตกต่างกันไป เมื่อเราทราบที่มาของความเสี่ยงที่ปรึกษาก็จะสามารถสร้างเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้วัดดัชนีความเสี่ยง (Key Risk Indications) ที่สามารถวิเคราะห์และประเมินผลในรูปแบบที่กระชับง่ายต่อการเข้าใจเพื่อแจ้งเตือนผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัท โดยอาศัย Information Technology ในการแจ้งเตือนจากทุก ๆ ที่ทุกเวลาที่เหมาะสมกับองค์กรหรือหน่วยงานนั้นๆ เป็นการเฉพาะ (Customized Solution) ระบบดังกล่าวถือเป็นเครื่องเตือนภัยล่วงหน้า Risk Alert หรือ Alarm System ซึ่งสามารถส่งเป็น SMS, e-mail หรือMMS หรือเป็น Risk Alert Dash Board ให้กับผู้เกี่ยวข้องเพื่อสามารถดำเนินการหรือมุ่งเน้นสาระสำคัญในการประชุมแก้ปัญหาได้อย่างทันเหตุการณ์อีกด้วย และทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของความเสี่ยง ที่คุณหรือใครก็บริหารจัดการได้ ผู้สนใจสามารถติดต่อดร.สุวิทย์ ธนียวัน ได้ที่อีเมล์ Suvit_vit@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ