กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--กรมการข้าว
กรมการข้าว วิตกเปิดเสรีการลงทุนปรับปรุงพันธุ์พืช บีโอไอชักศึกเข้าบ้าน ตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แฉ ไปเปิดเสรีทั้งที่ไม่มีผลวิจัยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ในการสัมมนา “การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการการเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเชียนในเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำไม้จากป่าปลูก และการปรับปรุงพันธุ์พืช” ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร
นางอัจรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ข้อตกลง ACIA นี้ได้ลงนามที่หัวหินเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นการรวมของกรอบความตกลงเขขตการลงทุนอาเซียน (AIA) ที่ลงนามไปตั้งแต่ปี 2541
แม้จะเปิดเสรีการลงทุนใน 3 หมวดนี้ก็จะมีกฎหมายภาคในในการควบคุมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอยู่แล้ว “ถ้าเราจะไม่ปฏิบัติตามพันธกรณี ทุกประเทศก็จะมีสิทธิ์ แต่ก็จะกลายเป็นข้อโต้แย้งระหว่างประเทศ”
นางลัดดาวัลย์ กรรณนุช ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวมีความวิตกอย่างมากกับการเปิดเสรีการลงทุนโดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์พืช เพราะประเทสไทยเป็นแหล่งพันธุกรรมข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีคุณค่ามหาศาล และมีพันธุ์ข้าวปรับปรุงที่มีคุณภาพ
“ขนาดแค่ อาฟต้าที่จะเปิดเสรีต้นปีหน้า เราก็รู้สึกว่าหนักแล้ว เพราะแม้เข้าได้แค่ปลายข้าวก็จะนำมาซึ่งปัญหาโรคแมลงที่ประเทศไทยไม่มีแล้ว แต่ถ้าเปิดเสรีปรับปรุงพันธุ์พืช หลายประเทศจ้องจะเข้ามา เพราะทุกวันนี้เรายอมแลกพันธุ์แค่ 200 กรัมเท่านั้น น่าแปลกที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ที่เป็นประเทศนำเข้าข้าว แต่ปกป้องข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหว แตะต้องไม่ได้ แต่ไทยไม่ปกป้องเลย ขอร้องทางบีโอไอ อย่าชักศึกเข้าบ้าน เพราะตอนนี้มีแต่คนจ้องเอาพันธุกรรมของไทยไป”
ทางด้าน ดร.รังสิต ภู่ศิริภิญโญ ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสริมว่า บทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นผู้แทนกระทรวงเข้าร่วมให้ความเห็นกับคณะเจรจาฝ่ายไทย ซึ่งเราจะรวบรวมจากผู้มีส่วนได้เสียและจากในกระทรวง ได้แจ้งไปแล้วว่าเราไม่เห็นด้วยกับการเปิดเสรีเพาะพันธุ์พืช แพราะ จะทำให้นักลงทุนต่างชาติมีโอกาสมาครอบครองทรัพยากร และกระทบกับเกษตรกรในระยะยาว และควรจะมีการวิเคราะห์ผลกระทบในเบื้องต้น
“เราเคยถามคณะเจรจาว่าสามารถบอกอาเซียนได้ไหมว่ายกสาขานี้ออกไปเลย หรือไม่ก็จัดให้อยู่ในรายการอ่อนไหว แต่ทางผู้เจรจาอ้างว่า ได้ผูกพันไปแล้ว ทั้งที่ ในมาตรา 17 ของข้อตกลง มีข้อยกเว้นว่าถ้าประเทศสมาชิกเห็นว่าจะเกิดผลกระทบต่อชีวิต มนุษย์ สัตว์ และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สามารถทำได้ กฎหมายที่มีอยู่นั้น เราไม่แน่ใจว่าจะสกัดกั้นนักลงทุนต่างชาติได้ เพราะที่ผ่านมา กฎหมายไทยมีช่องโหว่ และที่สำคัญ ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการศึกษาผลกระทบและมาตรการเยียวยาเลย”
ทางด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่า การที่ตัวแทนบีโอไอ อ้างว่ากฎหมายไทยสามารถป้องกันการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้นั้น อาจจะไม่สามารถปกป้องได้จริง เพราะในกรอบข้อตกลง นักลงทุนอาเซียนจะได้สิทธิการคุ้มครองการลงทุนหลายประการเยี่ยงคนในชาติ การอ้างกฎหมายไทย เช่น กฎหมายสวนป่า กฎหมายป่าสงวน ฯลฯ เป็นการป้องกันปัญหาในแง่การเปิดเสรีเท่านั้น ไม่รวมเรื่องการคุ้มครองการลงทุน นอกจากนี้ การใช้กฎหมายอื่นๆที่จะปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมใดๆ อาจถูกนักลงทุนนำไปเป็นประเด็นพิพาทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับรัฐได้ โดยอ้างว่า เป็นการริบทรัพย์ทางอ้อม ซึ่งในความตกลงไม่ได้กำหนดนิยามเรื่องการริบทรัพย์ทางอ้อมไว้
“จากข้อกังวลที่เกือบทุกฝ่ายสะท้อนออกมาในวันนี้ ทางคณะกรรมาธิการจะทำหนังสือถึงคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ (กนศ.) ที่จะประชุมในวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ให้คงข้อสงวนเหล่านี้ไว้”
ทั้งนี้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรุญ ตัวแทนจากกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความพยายามของข้าราชการบางส่วนที่เคลื่อนไหวให้เปิดเสรีโดยไม่คงข้อสงวนใน 3 สาขานี้ อย่างไรก็ตามภาคประชาชนกว่า 100 องค์กรจะเคลื่อนไหวต่อไปเพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีหลักประกันว่า รัฐบาลจะดำเนินการเพื่อคงข้อสงวน
“อยากบอกนายกฯว่า อย่าไว้ใจคณะเจรจา เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์ว่า คณะเจรจามีความไม่ชอบมาพากล ซึ่งรัฐบาลจะต้องพิสูจน์ฝีมือและความจริงใจว่า ตกลงแล้วรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือเป็นแค่ผู้ทำหน้าที่ตามที่ข้าราชการชงแบบไม่ลืมหูลืมตาเท่านั้น”