กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--ปตท.
การพัฒนาองค์กรของ ASCOPE
การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly: UNGA) ครั้งที่ 7 วันที่ 21 ธันวาคม 1952 ซึ่งเป็นที่มาของมติสหประชาชาติที่ 626 ว่าด้วย “หลักอธิปไตยถาวรเหนือความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและทรัพยากร” (The Principle of Permanent Sovereignty Over Natural Wealth and Resources) ช่วยกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ในระดับโลกเกี่ยวกับผลกระทบและความเสียหายที่ร้ายแรงของการทำสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ความไม่เท่าเทียมในเรื่องอำนาจต่อรอง และความไม่พร้อมในเรื่องขีดความสามารถการเจรจาระหว่างประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรกับบรรษัทน้ำมันข้ามชาติ
มติดังกล่าวรับรองว่า "สิทธิของประชาชนในการใช้และทำประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและทรัพยากรเป็นสิทธิอันชอบธรรมในเขตอธิปไตยของประเทศนั้น" นอกจากนี้ ยังระบุไว้ด้วยว่า "ประชาชนมีสิทธิ์จัดการและใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและทรัพยากรตามวัตถุประสงค์ของตนได้โดยอิสระ และจะต้องไม่ถูกกีดกันไม่ให้ดำเนินชีวิตตามวิถีแห่งความพออยู่พอกินของตนเอง ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม"
การลงมติครั้งประวัติศาสตร์นี้ (หรือที่เรียกว่า Resolution 1803) โดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 1962 ตอกย้ำการรับรองสิทธิว่าด้วยเจตนารมณ์ส่วนบุคคลและ "อธิปไตยเหนือความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและทรัพยากร"
สิบปีหลังจากนั้น เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 1972 การประชุมสมัยสามัญขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (General Meeting of the United Nations Conference on Trade and Development: UNCTD) ครั้งที่ 13 ลงมติ "รับรองอธิปไตยของทุกประเทศในการจัดการและใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศได้โดยอิสระ"
การก่อตั้งอาเซียน
ภายใต้การสนับสนุนของมติดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ลงนามใน "ปฏิญญากรุงเทพ" (Bangkok Declaration) ที่กรุงเทพฯ เพื่อก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (The Association of South East Asian Nations: ASEAN)
ปฏิญญาดังกล่าวเน้นย้ำความร่วมมือภายในภูมิภาค ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อนำไปสู่การระดมความคิดที่จะนำมาซึ่งเจตนารมณ์ร่วมกัน
นอกจากนี้ ปฏิญญากรุงเทพ ยังได้อธิบายวัตถุประสงค์และกรอบความร่วมมือกันในกิจกรรมต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องประสานความร่วมมือ (และมีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาสเถียรภาพของการพัฒนาในประเทศของตน) ภายใต้แนวปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ดำเนินความพยายามร่วมกันในการส่งเสริมความเสมอภาคและความร่วมมือฉันมิตรประเทศ
- ส่งเสริมความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรด้านการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของตนเอง
- ส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิชาที่ว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- สานต่อความร่วมมือกับองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์เดียวกัน ทั้งระดับภูมิภาคและนานาชาติ อย่างใกล้ชิดและเอื้อประโยชน์ในทางสร้างสรรค์
มติสหประชาชาติที่ 626 ในปี 1952 และ UNCTD Resolution ในปี 1972 ถือเป็นที่มาของการการก่อตั้งวิสาหกิจระดับชาติด้านปิโตรเลียมในประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราชหลายประเทศ รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในอินโดนีเซีย รัฐบาลก่อตั้ง PERMINA ในเดือนธันวาคม 1957 เป็นวิสาหกิจน้ำมันแห่งชาติแห่งแรก ในอาเซียน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น PERTAMINA ในปี 1971 ภายใต้กฎหมายที่เรียกว่า Law No. 8 ของอินโดนีเซีย
ฟิลิปปินส์ ก่อตั้ง Philippines National Oil Company (PNOC) เมื่อวันที่ 9 พฤษจิกายน 1973 ตามด้วย PETRONAS ของมาเลเซีย ในเดือนธันวาคม 1974 และ ปตท. (Petroleum Authority of Thailand: PTT) ในเดือนธันวาคม 1978 และในปี 1982 บรูไน ดารุสซาลาม ก่อตั้งหน่วยงานด้านปิโตรเลียมภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี
ภายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน วิสาหกิจน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Companies) รับผิดชอบงานด้านปิโตรเลียมทั้งหมดและดูแลสิทธิอธิปไตย (Sovereign Right) เหนือทรัพยากรประเภทไฮโดรคาร์บอน (ในนามของรัฐบาลประเทศนั้นๆ) ทั้งนี้ วิกฤตการณ์น้ำมันโลกเมื่อปี 1973 ที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงจนทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญและความจำเป็นในเชิงยุทธศาสตร์ของน้ำมัน ในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ
การก่อตั้ง ASCOPE
ในเดือนมิถุนายน ปี 1975 PERTAMINA ส่งข้อเสนอถึงผู้บริหารสูงสุดของวิสาหกิจน้ำมันระดับชชาติและหน่วยงานภาครัฐของประเทศต่างๆ ที่กำกับดูแลงานด้านปิโตรเลียมในภูมิภาคอาเซียน "เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในอุตสาหกรรมน้ำมันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน" ข้อเสนอดังกล่าวระบุว่า "ความร่วมมือระหว่างกันมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียน ในการเพิ่มขีดความสามารถทุกด้านและทุกช่วงของการพัฒนาของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ด้วยความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน"
จากการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ทำให้มีการประชุมครั้งแรกที่กรุงมะนิลา ระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน 1975 เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว ตามด้วยการประชุมอีกครั้งในหนึ่งเดือนหลังจากนั้นที่กรุงจาการ์ตา ระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคม 1975 เพื่อผลักดันความร่วมมือให้เกิดเป็นรูปธรรม ที่ประชุมในครั้งนั้นเห็นชอบให้จัดตั้ง คณะมนตรีด้านปิโตรเลียมของอาเซียน (ASEAN Council on Petroleum: ASCOPE) ขึ้นในหมู่ประเทศสมาชิก
ในวันที่ 15 ตุลาคม 1975 ประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ลงนามในปฏิญญาก่อตั้ง (Declaration of Establishment) และบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ว่าด้วย ASCOPE ต่อมาบรูไน ดารุสซาลาม เข้าเป็นสมาชิกในปี 1985 เวียดนาม (สมาชิกลำดับที่ 7) เข้าเป็นสมาชิกในวันที่ 5 เดือนพฤศจิกายน 1996 ส่วนกัมพูชาและพม่า เข้าเป็นสมาชิก ASCOPE เมื่อวันที่14 กุมภาพันธ์ 2001
เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของ ASCOPE (ตามที่ระบุไว้ทั้งในปฏิญญาก่อตั้งและบันทึกความเข้าใจ) สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของอาเซียน ดังนี้
- ส่งเสริมความร่วมมือและการใช้ควมช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง ในด้านการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในภูมิภาค ผ่านความพยายามร่วมกันในการส่งเสริมความเสมอภาคและความร่วมมือฉันมิตรประเทศ
- ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการฝึกอบรมบุคลากร รวมถึงการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการเพื่อการวิจัย ในทุกระยะของการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
- อำนวยความสะดวกด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
- จัดประชุมและสัมมนา
- สานต่อความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กร ทั้งระดับภูมิภาคและนานาชาติ ที่มีจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์เดียวกัน
เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีลักษณะเฉพาะ ประเทศสมาชิกจึงเห็นว่าการดำเนินงานของ ASCOPE ควรแยกเป็นอิสระจากสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) อย่างไรก็ตาม ASCOPE จะต้องดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้กรอบข้อตกลงอาเซียน นอกจากนี้ ASCOPE จะต้องรายงานและประสานกับสำนักเลขาธิการอาเซียนในเรื่องเกี่ยวกับโครงการและกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย
ASCOPE เริ่มส่งรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ให้กับรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียน (ASEAN Economic Ministers) และการประชุมประจำปีว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน (Energy Cooperation Meeting: AEM-EC) ในปี 1980 นอกจากนี้ ยังต้องส่งรายงานประจำปี หรือ ASCOPE Annual Report ให้กับสำนักเลขาธิการอาเซียนหลังการประชุม ASCOPE อีกด้วย
ในกลุ่มประเทศสมาชิก ASCOPE มีอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ดารุสซาลาม และเวียดนาม เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการกลั่นน้ำมันดิบ ส่วนฟิลิปปินส์และไทย เป็นประเทศทศผู้ใช้น้ำมัน