กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--มายแบรนด์ เอเจนซี่
ดร.เพ็ญนี หล่อวัฒนพงษา ผู้อำนวยการฝ่ายบริการจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวบำบัด และการประเมินค่าทางจิตวิทยาทางการศึกษา โรงพยายาลมนารมย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความบกพร่องในการเรียนรู้ หรือ Learning Disabilities (LD) ว่า ปัญหาของเด็ก LD เป็นความบกพร่องที่ซ่อนเร้น คุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกว่าลูกมีความเฉลียวฉลาดปกติเหมือนเด็กทั่วไป แต่ทำไมพฤติกรรมบางอย่างสังเกตได้ว่ามีความผิดปกติ เช่น ใช้เวลาทำการบ้านนานเกินไป ลูกสามารถอ่านหนังสือได้คล่องแต่ไม่สามารถจับใจความได้ มีปัญหาด้านการคำนวณ การเขียน การพูด การฟังจนสังเกตได้ชัด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือพฤติกรรมบางส่วนของเด็กที่เป็น LD ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองทั้งสองซีก แต่เป็นเรื่องของกระบวนการทำงานของสมอง และพันธุกรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ขณะที่เด็กยังเติบโตอยู่ในครรภ์เพราะเซลส์ประสาทเชื่อมโยงไม่ถูกคู่ หรืออาจไปอยู่ผิดที่ผิดทาง จนทำให้สมองบางส่วนบกพร่องในขณะที่สมองและระบบประสาทส่วนกลางยังสามารถทำงานได้ดี
สำหรับวิธีสังเกตเด็กที่มีลักษณะเป็น LD พฤติกรรมบางอย่างจะสังเกตได้ชัด บางอย่างอาจสังเกตไม่ได้ คือเด็กอาจจะอ่านได้คล่อง อ่านเพื่อความเข้าใจได้ เล่าเรื่องได้ แต่เมื่อถามเฉพาะจุดเจาะจงจะตอบไม่ได้ ไม่สามารถเชื่อมโยงเรื่องได้ ส่วนในด้านคณิตศาสตร์ก็ไม่สามารถคิดคำนวณง่าย ๆ ได้ ไม่เข้าใจความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ จำหลักเลขไม่ได้ ด้านการเขียนอาจสะกดคำศัพท์ไม่ได้ หรือเด็ก LD อาจจะพูดเก่ง ฉลาด แต่จะไม่จำ โดยเฉพาะถ้าให้ลงมือเขียน ลงมือทำ จะทำไม่ได้ นี่คือช่องว่างที่แตกต่างกันตรงนี้และสิ่งที่ตามมาคือผลสัมฤทธ์ทางการเรียนอย่างน้อยที่สุดมีนัยยะสำคัญที่สองชั้นเรียน เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กปกติ
ดร.เพ็ญนี หล่อวัฒนพงษา กล่าวว่า เด็กที่เป็น LD นอกจากพ่อแม่ที่ต้องเข้าใจเด็กแล้ว ครูและโรงเรียนถือเป็นคนสำคัญเช่นกันที่จะต้องเข้าใจและสามารถช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ ซึ่งข้อแนะนำมีอยู่ 3 ข้อหลักๆ ดังนี้
1. ผู้ปกครองไม่ควรไปแก้ความบกพร่องของเด็ก แต่จะต้องพยายามที่จะสอนเขา เช่นการอ่าน บางครั้งตอนกลางวันอาจจะอ่านดี ปกติ ไม่ผ่านกลับหัว แต่พอกลางคืนอาจจะอ่านกลับหัว ต้องเข้าใจเด็กเพราะการทำงานของสมองไม่สม่ำเสมอ คล้ายกับเคลื่อนวิทยุที่ไม่นิ่ง เพราะฉะนั้นวิธีการก็คือ จะต้องสอนเด็กให้เขารู้ตัว และบอกเขาว่าจะเรียนรู้อย่างไร ดังนั้นพ่อแม่ควรมีเวลาให้กับลูก หมั่นสังเกตพฤติกรรมการทำการบ้าน การเรียน การอ่าน การพูดจาของลูกว่าสื่อสารกัน ติดต่อกันได้ดีไหม ถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลาใส่ใจกับกิจกรรมของลูกเลย ปล่อยให้พี่เลี้ยง หรือครูพิเศษมาทำหน้าที่แทนก็ยิ่งทำให้เด็กอาจเป็นหนักขึ้น จนไม่อยากเรียนหนังสือเลยก็ได้
2. ครู ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความบกพร่องทางด้านการเรียน เพื่อที่จะสอนเด็กได้ โดยสอนให้เด็กได้เรียนรู้ศักยภาพด้านสติปัญญาของตัวเองว่าไมได้ด้อย อาจจะเก่งกว่าเด็กธรรมดาด้วยซ้ำ คงไม่ใช้คำว่าแค่แก้ปัญหา แต่ต้องเข้าใจปัญหา และรับมือกับมันให้ได้ เพราะจุดที่บกพร่องบางอย่างแก้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่อวัยวะที่บกพร่อง แต่เป็นวิธีการทำงาน ที่บางครั้งมันเกิดวิธีการรับข้อมูล สื่อข้อมูล หรือเรียนรู้ที่บกพร่อง
3. โรงเรียนจะต้องสนับสนุนการเรียนของเด็กให้เกิดการบูรณาการ เพราะปัญหาชีวิตไมได้แก้ไขที่ด้านใดด้านหนึ่ง ต้องดูหลายด้าน ดังนั้นการเรียนที่ดีต้องมีความสอดคล้องทั้งรายวิชา และผู้สอนกับผู้เรียน โดยแต่ละรายวิชาต้องส่งเสริมกัน เมื่อเด็กเรียนไปแล้วสามารถสร้างความรู้ต่อได้ หากไม่สอดคล้องกันเด็กจะเรียนไมได้ เพราะในการบำบัดรักษาเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนจะต้องยึดหลักวิธีการสอนของครู วิชาที่สอน และการเรียนของเด็กเอื้อผลกันมากที่สุด ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้
ความรู้ความเข้าใจถือเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลรักษาและบำบัดเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนและพัฒนาการ เพราะหากพ่อแม่และ ครูไม่เข้าใจเด็กแล้ว ก็อาจทำให้การรักษาเป็นไปอย่างล่าช้า ยิ่งพ่อแม่ และครูไม่มีความรู้ในเรื่องของจิตวิทยา และลักษณะของความบกพร่องทางการเรียนแล้วก็ย่อมทำให้เป็นเรื่องยากที่เด็กจะดีขึ้นได้ หากผู้ปกครอง หรือ ครู ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับความบกพร่องทางการเรียน และพัฒนาการของเด็ก ก็สามารถขอรับข้อมูล หรือสอบถามจิตแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญได้ที่ โรงพยาบาลมนารมย์ โทร 02-725-9595 www.manarom.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 028641143 มายแบรนด์ เอเจนซี่