กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ APD ที่ระดับ “BBB(tha)” แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ “F3(tha)”
อันดับเครดิตของ APD สะท้อนถึงชื่อเสียงที่ดีและความเชี่ยวชาญในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท รวมถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภททาวน์เฮ้าส์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมลฑล และสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นในส่วนของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม แม้ว่ายอดขายที่ยังไม่รับรู้รายได้ (Sales Backlog) จะลดลงมาเหลือ 12.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 จาก 14.7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 แต่จากความสำเร็จของการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่หลายโครงการในครึ่งหลังของปี 2552 ฟิทช์คาดว่ายอดขายที่ยังไม่รับรู้รายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 15 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 นอกจากนี้ APD ยังสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR margin) ให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากการลดภาษีธุรกิจเฉพาะและค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการทางด้านภาษีเพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล
อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงแผนการจัดซื้อที่ดินใหม่เพิ่มเติมและการก่อสร้างโครงการใหม่ที่เปิดตัวในช่วงปี 2552-2553 ซึ่งน่าจะทำให้ระดับหนี้สินของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสองปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเหล่านี้ได้ถูกลดทอนลงบางส่วนจากการที่บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการบริหารกระแสเงินสด รวมถึงระดับหนี้สินของบริษัทที่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และสภาพคล่องที่ดี ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (Net Adjusted Debt to EBITDAR) ของ APD จะอยู่ในช่วง 3 ถึง 4 เท่าในระหว่างปี 2552 — 2554 ในขณะเดียวกันฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR margin) ของ APD จะลดลงในปี 2553 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการสิ้นสุดของมาตรการการลดภาษีธุรกิจเฉพาะและค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมีนาคม 2553
APD มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 มาอยู่ที่ 9.8 พันล้านบาทในปี2551 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 5.2 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ซึ่งส่วนใหญ่เนื่องมาจากการรับรู้รายได้จากโครงการคอนโดมิเนียมที่โอนในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของยอดขายจะอ่อนตัวลงในช่วงปี2553-2554 โดยส่วนหนึ่งเนื่องมาจากจำนวนโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 และครึ่งแรกของปี 2552 ซึ่งมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวในปี 2550 รวมถึงฐานรายได้ที่ใหญ่ขึ้นในปี 2552 ด้วย APD มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิ (หลังหักการจ่ายเงินปันผล) (Free Cash Flow) อยู่ที่ 0.33 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ในขณะที่ระดับหนี้สินสุทธิลดลงมาอยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท (6.2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2551) นอกจากนี้ด้วยจำนวนการเปิดตัวโครงการใหม่และการซื้อที่ดินที่ลดลงในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2551 ถึงไตรมาสที่สองของปี 2552 ทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า ในช่วง 12 เดือนล่าสุด (Net Adjusted Debt to last-12-month EBITDAR) ลดลงมาอยู่ที่ 2.1 เท่า ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2552 จาก 2.9 เท่า ณ สิ้นปี 2551 อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash Flow From Operation) และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิ (หลังหักการจ่ายเงินปันผล) จะติดลบในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจาก APD ได้มีการขยายโครงการซึ่งต้องการเงินหมุนเวียนจำนวนมากสำหรับค่าก่อสร้างโครงการและการซื้อที่ดินเพิ่ม อย่างไรก็ตามสภาพคล่องทางการเงินของ APD ยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเงินสดในมือที่ระดับ 789 ล้านบาทและวงเงินสินเชื่อที่สามารถเบิกจ่ายได้จากธนาคารประมาณ 8.6 พันล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2552
APD มีความเสี่ยงจากความผันผวนของวัฏจักรธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย และความอ่อนไหวของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยต่อความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมืองรวมถึงรายได้หลักของ APD ที่มาจากการขายโครงการอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีลักษณะไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ APD ยังมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานอื่นๆ ได้แก่ ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นและสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะในส่วนของโครงการคอนโดมิเนียมในเมือง ซึ่งแม้ว่าการแข่งขันจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มของผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ตาม โดยปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพของ APD สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งรวมถึงสภาพคล่องทางการเงินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบันได้ แม้จะเป็นช่วงที่มีการขยายโครงการใหม่มากขึ้นและต้องเผชิญกับสภาวะการดำเนินงานที่มีความท้าทายอย่างต่อเนื่อง การเติบโตที่แข็งแกร่งของยอดขายและกระแสเงินสด โดยสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของ APD ในขณะที่ผลประกอบการและสภาพคล่องที่อ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้รวมถึงสภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมที่แย่ลงอย่างมีนัยสำคัญอาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้
ติดต่อ: พิมรำไพ ปันยารชุน, สมฤดี ไชยวรรัตน์, Vincent Milton, + 662 655 4755
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com
การใช้อันดับเครดิตที่จัดทำโดยฟิทช์เรทติ้งส์มีข้อจำกัดและขอบเขตการใช้ ซึ่งข้อจำกัดและขอบเขตของการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวสามารถหาได้จาก HTTP://FITCHRATINGS.COM/UNDERSTANDINGCREDITRATINGS นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน ผู้ออกตราสารไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดอันดับเครดิต นอกเหนือจากการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของบริษัทเท่านั้น