กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
เดินหน้าเชิงรุกตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้หวัด 2009 ทั้ง 50 เขต Mr.2009 กว่า 10,000 คน ลงพื้นที่ อาทิ ในชุมชน สถานประกอบการ โรงเรียน เพื่อเฝ้าระวัง ให้ความรู้ กระตุ้นเตือนประชาชนเกิดความตระหนัก ตื่นตัวในการป้องกันการแพร่ระบาดของหวัด 2009 รอบสอง ในกทม. พร้อมทั้งดำเนินมาตรการ 5 ด้าน ควบคู่ยุทธศาสตร์ 2 ลด 3 เร่ง เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมรับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ระลอกสอง โดยมี Mr.2009 จากสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักอนามัย ศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง
ตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้หวัด 2009 พร้อมอบรม Mr. 2009 รุ่นแรก
กรุงเทพมหานคร จัดประชุมให้ความรู้แก่ Mr.2009 จากสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตๆ ละ 2 คน ประกอบด้วย หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เป็นผู้ประสานงาน และเป็นครู ก คอยแนะนำ ให้ความรู้ แก่ Mr.2009 จากชุมชนในพื้นที่ รวมถึงจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้ไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้ง 50 เขต เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ระลอกสอง
เตรียมการ 5 ด้าน รับมือการระบาดรอบสอง
ทั้งนี้ ยังดำเนินมาตรการ 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1 ระบบการเฝ้าระวัง ( Surveillance system) มุ่งเน้นการเฝ้าระวัง ตรวจจับการระบาดในประชาชนกลุ่มเสี่ยง เฝ้าระวังเชิงรุกทั้งในคนและสัตว์ปีกควบคู่กัน สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังโรคโดยมีผู้ประสานงาน และแจ้งข่าว( Mr.2009 )ในระดับหน่วยงานหลักของพื้นที่ (สำนักงานเขต และศูนย์บริการสาธารณ) และพื้นที่เป้าหมายได้แก่ ในชุมชน สถานประกอบการสถานศึกษา แหล่งชุมนุมชน จำนวนทั้งหมด 11,000 คน และจัดอบรม Mr.2009 ทุกระดับ ด้านที่ 2 ระบบการควบคุมป้องกันโรค เร่งสอบสวนโรคในผู้ป่วยยืนยันเสียชีวิต และการระบาดเป็นกลุ่ม เร่งรัดมาตรการป้องกันควบคุมโรคในโรงเรียน ชุมชน สถานประกอบการ ด้านที่ 3 ระบบการสื่อสารประชาสัมพันธ์ รณรงค์เชิงรุกเพื่อสร้างความตระหนักและเข้าใจแก่ประชาชนและกลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง เพื่อส่งเสริมการดูแลตนเอง (self care) ประสานเครือข่ายสื่อสารมวลชนทุกระดับร่วมรณรงค์ จัดทำโครงการ “ปังปอนด์ ยุวทูตวัยใส กับปฏิบัติการปิ๊ดปี้ปิ๊ด รวมพลังสู้หวัด” โดยจะเริ่มรณรงค์เบื้องต้นใน 50 โรงเรียนทุกสังกัดในกรุงเทพมหานคร พร้อมแต่งตั้งปังปอนด์ให้เป็น “ยุวทูตวัยใส” เพื่อเป็นตัวแทนในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรู้เท่าทันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้แก่เด็กและประชาชนอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันศุกร์ที่ 6 พ.ย. 52 ด้านที่ 4 ระบบการจัดเตรียมวัสดุ เวชภัณฑ์ วัคซีน โดยจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับใช้ป้องกันการติดเชื้อ (personal protective equipment : PPE) จัดเตรียมหน้ากากอนามัย ยาต้านไวรัส แอลกอฮอล์เจล วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และด้านที่ 5 ระบบกำกับติดตามประเมินผล มีระบบกำกับติดตามประเมินผลในหน่วยปฏิบัติงานระดับพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยการดำเนินการเร่งรัดแผนควบคุมป้องกันโรคในโรงเรียน และชุมชน โดยนำผลและแนวทางที่ได้จากการซ้อมแผนจัดทำเป็นคู่มือแจกจ่ายสำหรับหน่วยงานและโรงเรียนนำไปดำเนินการต่อไป
ดำเนินตามแนวยุทธศาสตร์ 2 ลด 3 เร่ง
กรุงเทพมหานครมีนโยบายในการควบคุมการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยการลดการแพร่ระบาดของโรค ด้วยการส่งเสริมพฤติกรรมอนามัย อาทิ ให้ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เมื่อเจ็บป่วยให้หยุดงาน หยุดเรียน งดเข้าไปในที่ชุมนุมชน รักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาดเป็นระเบียบ เป็นต้น การลดอัตราป่วยและอัตราตาย การสื่อสารความเสี่ยงต่อสาธารณะให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจและลดความตื่นตระหนก และเสริมศักยภาพการบริหารจัดการทุกระดับอย่างเป็นระบบ และมีเอกภาพ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการ ทั้งในระดับนโยบาย (Policy Level) และระดับปฏิบัติการ (Operational level) มีระบบกำกับติดตาม ประเมินผลโดยผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร และมีระบบการตอบสนองในระดับพื้นที่ ซึ่งมีสำนักงานเขตเป็นศูนย์ปฏิบัติการ และอาสาสมัครสาธารณสุข และผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งดำเนินการตอบสนองต่อการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ตามยุทธศาสตร์ 2 ลด 3 เร่ง ของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย 2 ลด ได้แก่ ลดอัตราป่วย และลดอัตราตาย 3 เร่ง ได้แก่ เร่งการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยในชุมชน เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและการสื่อสารเพื่อลดความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชน และเร่งกระจายมาตรการแนวทางการดำเนินงานให้กับหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ให้ครอบคลุม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ตลิ่งชันพบผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 2 พ.ย. 52 มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,761 ราย เสียชีวิต 23 ราย เป็นเพศชาย 12 ราย เพศหญิง 11 ราย อายุระหว่าง 7 — 84 ปี โดยผู้ป่วยรายสุดท้ายเป็นหญิงไทย อายุ 26 ปี น้ำหนัก 189 กิโลกรัม อยู่เขตตลิ่งชัน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ต.ค. 52 จำนวน 4 ราย ผู้ป่วยยืนยันส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา จำนวน 2,602 ราย (ร้อยละ 54.65) กลุ่มอายุที่พบสูงสุด ได้แก่ อายุ 11-20 ปี (ร้อยละ 36.03) รองลงมาอายุ 6—10 ปี (ร้อยละ 19.28) และอายุ—5 ปี (ร้อยละ 15.66)
กำชับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเต็มกำลังด้วยความเข้มข้น
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กล่าวให้กำลังใจแก่ Mr.2009 จากสำนักงานเขต ที่เสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ ในการปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็ง จริงจัง พร้อมทั้งกำชับให้มีการลงพื้นที่เฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เนื่องจากฤดูหนาวเป็นช่วงที่อากาศเย็น ประชาชนเป็นหวัดได้ง่าย ต้องจับตาและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 แพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว รวมถึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นนิ่งเฉย ละเลย หรือตื่นตระหนกเกินเหตุ เพียงเราช่วยกันดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ยึดหลักง่ายๆ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” เท่านี้ก็สามารถช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้