กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
นายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ ส.ก.เขตลาดกระบัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการประชุมคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาการจัดการขนส่งมวลชนด้วยระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ตามแนวคลองแสนแสบและถนนที่เป็นแหล่งธุรกิจที่มีประชาชนหนาแน่น จากการประชุมคณะกรรมการฯเมื่อวันที่ 28 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ในการแต่งตั้ง นายสุธา นิติภานนท์ ส.ก.เขตภาษีเจริญ เป็นประธานคณะกรรมการฯ นายศิริพงษ์ ลิมปิชัย ส.ก.เขตดุสิต เป็นรองประธาน คนที่หนึ่ง และนายบำรุง รัตนะ ส.ก.เขตวังทองหลาง เป็นรองประธานคนที่สอง และนายสุไหง แสวงสุข ส.ก.เขตทวีวัฒนา เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ
เตรียมผลักดันให้เกิดรูปธรรม เพิ่มประสิทธิภาพรองรับระบบขนส่งมวลชนในอนาคต
ที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้วางกรอบการพิจารณาโดยมอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา กทม. รวบรวมเอกสารข้อมูลที่ได้มีการศึกษามานำเสนอ เพื่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการในอนาคต โดยให้หน่วยงานอธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณา ในการผลักดันให้เป็นนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชน ซึ่งจะต้องศึกษาผลดีผลเสียและภาพรวมในการดำเนินการวางระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว Monorail ตามถนน และแนวคลองต่างๆ รวมถึงถนนที่เป็นแหล่งธุรกิจที่มีประชาชน อุปสรรคและปัญหาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จำนวนผู้ต้องการใช้บริการซึ่งจะต้องมีปริมาณการใช้ประมาณ 8,000-10,000 คนต่อชั่วโมง ตลอดจนรูปแบบตัวรถ ความเหมาะสมทางวิศวกรรม โครงสร้างของระบบ เทคโนโลยีที่เหมาะสม ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ เป็นต้น
สำหรับโครงการดังกล่าวกรุงเทพมหานครเคยมีการศึกษาและสำรวจพื้นที่พร้อมวางเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ในเขตเมืองชั้นในและย่านธุรกิจ อาทิ เส้นทางอนุสาวรีย์ชัยฯ — มักกะสันคอมเพล็กซ์ - กทม.2 ดินแดง เพื่อรองรับการเดินทางในพื้นที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายมักกะสันคอมเพล็กซ์ และสนามบินสุวรรณภูมิ และมีการศึกษาเพิ่มเติมอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ เจริญกรุง - เจริญนคร และเยาวราช - สมเด็จเจ้าพระยา, จุฬาฯ — สยามและเจริญกรุง — หัวลำโพง - สาทร และพระโขนง - รามคำแหง - ศรีนครินทร์ ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการวิสามัญฯในการพิจารณาเพื่อผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป
ข้อดีของระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว Monorail
สำหรับระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว Monorail ผ่านการตรวจสอบและใช้งานมาแล้วในหลายเมืองทั่วโลก ต้นทุนในการลงทุนก็คุ้มค่ากว่า มีความปลอดภัยสูงเพราะเป็นยานพาหนะที่วิ่งไปบนราง ขับออกนอกเส้นทางไม่ได้ อีกทั้งระบบรางเดี่ยวไม่มีสิ่งกีดขวางเส้นทางเกิดขึ้น ถ้าระบบขัดข้องรถจะหยุดทันทีเพราะไม่มีพลังงานไฟฟ้าจ่าย ทั้งระบบลอยอยู่บนพื้นดิน ปลอดภัยจากการก่อการร้ายหรือควันพิษในอุโมงค์ เป็นยานขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนผ่านมอเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบจุดระเบิดในเครื่องยนต์ทุกชนิดไม่ต่ำกว่า 3 เท่า ไม่มีควันมลพิษเพราะความร้อนในเครื่องยนต์น้อย เสียงเบากว่าระบบเครื่องยนต์ จากตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น (Tokyu-Hamada) ลงทุนเส้นทาง 12.8 กม. ประเทศสิงค์โปร์ลงทุนเล้นทาง 2 กม.อีกทั้งนิยมใช้ภายในตัวเมือง เช่น Houston Metro,มาเลเซีย, Newark International Airport,ญี่ปุ่น (Okinawa) และในเมือง Los Angeles ของสหรัฐฯ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวได้รับนิยมและกำลังได้รับความสนใจจากนักวางแผนระบบขนส่งในหลายเมืองทั่วโลก