กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--กรีนพีซ
นักกิจกรรมของกรีนพีซ 50 คน ได้ปฏิบัติการรณรงค์ปกป้องป่าฝนเขตร้อนในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเรียกร้องผู้นำโลกให้ยุติการทำลายป่าไม้ทั่วโลก ทั้งนี้การตัดไม้ทำลายป่านั้นมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 1 ใน 5 ส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด (1) การเรียกร้องในครั้งนี้มีขึ้นเนื่องในการประชุมเจรจารอบสุดท้ายที่เมืองบาเซโลนา ประเทศสเปน ก่อนการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้
นักกิจกรรมของกรีนพีซทำฝายกั้นลำคลองซึ่งทำให้เกิดการระบายน้ำจากป่าฝนเขตร้อนและดินพรุ เพื่อใช้พื้นที่ในการทำสวนป่าขนาดใหญ่ ณ คาบสมุทรกัมปาร์บนเกาะสุมาตรา (2) การทำลายป่าพรุและป่าฝนเขตร้อนในประเทศอินโดนีเซียดังกล่าวนี้ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลและทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา (3)
กรีนพีซและสมาชิกจากชุมชนรอบป่าได้ร่วมกันสร้างฝายเพื่อกันมิให้น้ำระบายออกจากพื้นที่ป่าพรุตลอดหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา กิจกรรมนี้ยังได้รับความร่วมมือจากเมลานี ลอเรน นักแสดงชาวฝรั่งเศสในภาพยนตร์เรื่องใหม่ Inglourious Basterds ของ Quentin Tarantino
“การทำลายป่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนี่คือเหตุผลที่ฉันมาอยู่ ณ แนวหน้าเพื่อปกป้องป่าและยุติการทำลายป่าร่วมกับกรีนพีซ เพื่อผลักดันให้ผู้นำโลกยุติการทำลายป่าทั้งในประเทศอินโดนีเซียและทั่วโลก เนื่องจากการยุติการทำลายป่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะหลีกเลี่ยงมิให้เกิดหายนะภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้” เมลานี ลอเรน กล่าว
กรีนพีซได้สร้าง 'ค่ายผู้พิทักษ์สภาพภูมิอากาศ' ในใจกลางป่าฝนอินโดนีเซีย และจะเดินหน้าสร้างฝายกั้นน้ำมิให้ไหลออกจากป่าพรุทั่วคาบสมุทรกัมปาร์ซึ่งเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอนประมาณ 2 พันล้านตัน ในหลายสัปดาห์ที่กำลังมาถึง ในขณะที่การประชุมด้านภาวะโลกร้อนของสหประชาชาติ ที่กรุงโคเปนเฮเกนกำลังใกล้เข้ามา
"เรากำลังปฏิบัติการรณรงค์เพื่อยุติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ที่นี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ป่าไม้ถูกทำลายมากที่สุด หากต้องการฉุดรั้งโลกให้พ้นขอบเหวแห่งวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โอบามา เมอร์เคล ซาร์โคซี บราวน์ และ ผู้นำโลกคนอื่นๆ ต้องมีพันธะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ในปริมาณสูงกว่านี้มากนัก และต้องจัดหาเงินทุนที่จำเป็นต้องมีขึ้นเพื่อหยุดการทำลายป่า (5) หากพวกเขาล้มเหลว เราจะประสบกับการสูญสิ้นของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ อุทกภัย ภัยแล้ง และ ความอดอยากแร้นแค้นในช่วงชีวิตของเรา" บุสตาร์ ไมทาร์ เจ้าหน้าที่รณรงค์ของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
กรีนพีซจะเผยแพร่แผน "กองทุนเพื่อป่าไม้แห่งอินโดนีเซีย" ณ การประชุมเจรจาโลกร้อน ในกรุงบาร์เซโลนา เวลาเที่ยงของเวลาประเทศไทย แผนการนี้แสดงให้เห็นว่ากองทุนเพื่อป่าไม้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการ ทำลายป่าอย่างรวดเร็วได้อย่างไร
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บุสตา ไมทาร์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ โทร +62 (0) 81344666135
ธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย โทร 089-4769977
วริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 02-357-1921
หมายเหตุ
(1) http://www.ipcc.ch/ipccreports/ar4-wg3.htm
(2) การทำลายป่าฝนเขตร้อนและป่าพรุในประเทศอินโดนีเซียเกิดจากอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษของสองบริษัทยักษ์ นั่นคือ Asia Pulp & Paper (APP — Sinar Mas) และ Asia Pacific Resources International Holding Limited (APRIL - RGE) ร้อยละ 73 ของอุตสาหกรรมกระดาษในประเทศอินโดนีเซียเป็นของทั้งสองบริษัทนี้รวมกัน
(3) WRI 2008. Climate Analysis Indicators Tool (CAIT) Version 6.0 (Washington, DC: World Resources Institute) http://cait.wri.org
(4) http://www.maanystavat.fi/april/resourcesforkampar2007/Miettinen2007longKamparPeninsula.pdf
(5) กรีนพีซประเมิณว่าการยุติการทำลายป่าได้นั้น จะต้องให้ประเทศอุตสาหกรรมลงทุน 42 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30 พันล้านยูโร ต่อปีเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับปกป้องป่า
ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถอ่านได้จาก http://www.greenpeace.org/climatedefenders
ข้อมูลพื้นฐานเรื่องป่าไม้ในประเทศอินโดนีเซีย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อ่านได้ที่
www.greenpeace.org/climatedefenders/rainforests-and-climate-change