กพช. อนุมัตินโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศตามแผนระยะสั้น และระยะยาว โดยเน้นส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน การกำกับดูแล

ข่าวบันเทิง Tuesday November 7, 2006 09:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--กพช.
กพช. อนุมัตินโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศตามแผนระยะสั้น และระยะยาว โดยเน้นส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน การกำกับดูแล สร้างความเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะการดำเนินงานด้านพลังงานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 4/2549 (ครั้งที่ 107) ซึ่งมี ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน การประชุมวันนี้ (วันที่ 6 พฤศจิกายน 2549) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงพลังงาน อนุมัตินโยบายและแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ แบ่งเป็น แผนดำเนินการทันที และแผนที่จะดำเนินการศึกษา ดังนี้
แผนดำเนินการทันที ประกอบด้วย 1. การปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงานให้เหมาะสม เพื่อให้การบริหารจัดการพลังงานของประเทศมีประสิทธิภาพสูงสุด 2. การจัดหาพลังงาน เพื่อสร้างความ มั่นคงด้านพลังงาน ดูแลการลงทุนในกิจการไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า มีเสถียรภาพราคา และเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค 3. ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อให้เกิดผลปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมกัน (Cogeneration) ในปริมาณที่เหมาะสม โดยผ่านระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) 4. ส่งเสริมพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศ พร้อมกับให้ความรู้และทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ 5. กำหนดโครงสร้างราคาพลังงาน ที่โปร่งใส เป็นธรรม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 6. กำหนดมาตรการด้านพลังงานสะอาด เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ พลังงาน 7. ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมมือกันพัฒนาพลังงานของประเทศร่วมกัน
แผนที่จะดำเนินการศึกษา ได้แก่ การกำหนดวางรากฐานการบริหารจัดการพลังงานแบบยั่งยืน และสอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก คือ 1. จัดหาพลังงาน ที่ทำให้เกิดความมั่นคง การใช้อย่างพอเพียงและทั่วถึง ตลอดจนลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน 2. พัฒนาพลังงานแบบยั่งยืน ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมบริหารจัดการด้านพลังงาน 3. ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบ Logistics การพัฒนายานยนต์ประหยัดพลังงาน เป็นต้น และ 4. ส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ มีระบบการกำกับดูแลที่ดีที่สร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน
สำหรับการประชุมครั้งนี้ กพช. ได้เห็นชอบแนวทางกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ โดยมีมติอนุมัติให้มีการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... โดยกำหนดให้มีการกำกับดูแลที่ครอบคลุมถึงกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในระหว่างที่มีการยกร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้การกำกับดูแลดำเนินอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการลาออกของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (Regulator) 7 คน ที่ประชุมจึงมีมติอนุมัติให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า พ.ศ. 2548 พร้อมกับให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการใหม่เข้ามาทดแทนภายใต้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อทำหน้าที่แทนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการจำนวน 4 คณะ 1. คณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ (เอฟที) 2. คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า 3. คณะอนุกรรมการพิจารณาระเบียบการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และ 4. คณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน
และอนุมัติในหลักการปรับปรุงแก้ไขพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 แห่ง พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อรับโอนอำนาจรัฐที่อยู่กับ ปตท. มาไว้ที่องค์กรนี้ ประกอบด้วย อำนาจการประกาศเขต อำนาจการรอนสิทธิเหนือพื้นดินของเอกชน และอำนาจในการเวนคืนที่ดิน โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ การแก้ไขพระราชกฤษฎีกาฯ ของ ปตท. มุ่งหวังเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ และควบคุมการใช้อำนาจทางกฎหมายให้เป็นไปโดยถูกต้อง โดยเฉพาะการรักษาผลประโยชน์ของภาครัฐ ซึ่งอำนาจของคณะกรรมการกำกับกิจการก๊าซธรรมชาติจะสิ้นสุดลง เมื่อมีการตรากฎหมายตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... แล้วเสร็จ ซึ่งจะถูกโอนมาให้คณะกรรมการกำกับดูแลที่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน
กพช.ได้เห็นชอบการเลื่อนกำหนดยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 ออกไปก่อน โดยให้กระทรวงพลังงานรับไปพิจารณากำหนดเวลาการยกเลิกฯใหม่ โดยคำนึงถึงความเพียงพอของปริมาณเอทานอล การกำหนดราคาเอทานอล แนวทางการลดผลกระทบต่อรถยนต์ที่ไม่สามารถใช้ก๊าซโซฮอล์ได้ และความพร้อมของสถานีบริการน้ำมัน และให้สามารถประกาศกำหนดเวลายกเลิกฯได้อย่างชัดเจนภายในไตรมาส แรกของปี 2550
กพช. ยังได้เห็นชอบให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและกระตุ้นให้เกิดการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนที่ปัจจุบันไม่คุ้มค่าในการผลิตเชิงพาณิชย์เพราะเป็นแหล่งที่มีปริมาณการผลิตต่ำ หรือแหล่งที่เคยมีกำลังการผลิตสูงแต่กำลังการผลิตลดต่ำลงเรื่อยๆจนไม่คุ้มค่า โดยกำหนดเวลาและการลดหย่อนค่าพากย์หลวงให้กับผู้ผลิตฯ ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง วัสดุอุปกรณ์ นลฯ ที่หมดอายุการใช้งานออกจากพื้นที่ผลิตเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการกระจายอำนาจจากคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่มิใช่เรื่องนโยบายสำคัญให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีฯ คณะกรรมการปิโตรเลียม และอธิบดีกรมเชื้อเพลิงลดหลั่นกันไป
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน กพช. อนุมัติให้มีการขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยลาว (สปป.ลาว) จากเดิม 3,000 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นในอนาคต และมอบหมายให้กระทรวงพลังงานดำเนินการให้มีการลงนามกับ สปป.ลาวต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ