กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--กรมการค้าต่างประเทศ
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า จากการที่ คต.ได้มีการบริหารจัดการการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเชื้อเพลิง ทุน วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการนำเข้าสูง เพราะมีความจำเป็นต่อการผลิตและการส่งออก โดยมีสัดส่วนการนำเข้ารวมกันประมาณร้อยละ 88 ของการนำเข้าทั้งหมด
และจากการบริหารการนำเข้าโดยขอความร่วมมือจากผู้นำเข้าให้นำเข้าเท่าที่จำเป็นสอดคล้องกับการผลิตและส่งออก โดยไม่มีการกักตุน/เก็งกำไรมาตั้งแต่กลางปี 2548 จนถึงปัจจุบัน
ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำเข้าสินค้าเหล่านี้เป็นอย่างดีอย่างไรก็ตามใน 4 เดือนแรกของปี 2549 (ม.ค.-เม.ย.) จากการติดตามสถานการณ์นำเข้าสินค้าในกลุ่มต่าง ๆ พบว่าการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งรวมอยู่ในสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยหลายรายการมีการนำเข้าในอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก อาทิเช่น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน นำเข้ามูลค่า 670 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ นำเข้ามูลค่า 142 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้าน นำเข้ามูลค่า 82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เช่น เครื่องใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร กระเป๋าเดินทาง นำเข้ามูลค่า 575 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ผักผลไม้ นำเข้ามูลค่า 108 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 และนาฬิกาข้อมือ/นาฬิกาอื่น ๆ นำเข้ามูลค่า 44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.7
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สินค้าฟุ่มเฟือยเหล่านี้หลายรายการ ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตที่ได้คุณภาพและมีมาตรฐานสูง แต่ยังมีการนำเข้าอยู่ โดยมีสาเหตุมาจากการติดอยู่กับแบรนด์ตามรสนิยมของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูง การนำสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก การนำเข้าตามนโยบายของบริษัทแม่ในบางสินค้า รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลง เป็นต้น
ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศจะติดตามสถานการณ์การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างใกล้ชิด และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐาน ผลักดันให้มีการกำหนดมาตรการและมาตรฐานสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และประสานกับกรมศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดตรวจจับการลักลอบนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้
รวมทั้งการจัดทำโครงการ/กิจกรรมสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนนิยมใช้ของที่ผลิตในประเทศ และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยแพร่หรือนำสินค้าในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตมาแสดงให้คนไทยหันมาสนใจใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น หรือว่าการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจะไม่มากผิดปกติ จนต้องใช้มาตรการตามกฎหมายในการกำกับดูแลการนำเข้า
สำหรับในปี 2549 (ม.ค.-เม.ย.) มีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่า 2,871 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 โดยในเดือน เม.ย.49 นำเข้ามูลค่า 715 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์