ท่าที่ EU ต่อการจัดทำ Copenhagen Climate Agreement

ข่าวทั่วไป Thursday November 5, 2009 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--คต. นายวิจักร วิเศษน้อย รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2552 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้แจ้งท่าทีของ EU ในฐานะประเทศผู้นำในการผลักดันการดำเนินการลดภาวะโลกร้อน สำหรับการประชุมนานาชาติ Copenhagen Summit ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 7 — 18 ธันวาคม 2552 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยเร่งจัดทำความตกลงโคเปนเฮเกนให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ได้แก่ 1) พันธะผูกพันการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากประเทศอุตสาหกรรม 2) แนวทาง การกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศกำลังพัฒนา 3) กรอบการปฏิบัติเพื่อลดภาวะโลกร้อน และ 4) งบประมาณในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาเพื่อลงทุนหรือดำเนินการลดภาวะโลกร้อนเพื่อป้องกันไม่ให้ขึ้นสูงถึงระดับอันตราย โดยที่ EU ต้องการให้ความตกลงโคเปนเฮเกนนี้ เป็นกลไกพันธกรณีทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการต่อจากภายหลังพิธีสารเกียวโตจะหมดอายุลงในปี 2555 และมุ่งหวังให้ประเทศที่เกี่ยวข้องให้สัตยาบันเพื่อมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป จากการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว จะเห็นว่า EU ให้ความสำคัญและรณรงค์ผลักดันการดำเนินการลดภาวะโลกร้อนทั้งใน EU และประเทศคู่ค้าเป็นอย่างมาก ในขณะที่จีน อินเดีย และสหรัฐฯ ต่างก็ยังไม่มีข้อผูกพันในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นายวิจักรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการต่างๆ สำหรับการลดภาวะโลกร้อนต้องใช้งบประมาณเพื่อการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ สูง โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประหยัดพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และแผนงานการจัดสรรปริมาณการปล่อย CO2 ของอุตสาหกรรม ขนส่งทางอากาศที่จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจังในปี 2556 เป็นต้นไป ซึ่งทำให้บริษัท / ผู้ประกอบการใน EU เกรงจะเสียเปรียบคู่แข่งทางการค้าในเรื่องต้นทุน นอกจากนี้ ข้อเสนอการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tariff) จากสินค้านำเข้าที่มาจากประเทศที่ไม่มีแผนงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสมาชิก EU อยู่ระหว่างการหารืออภิปรายถึงวัตถุประสงค์การนำมาบังคับใช้ว่าเข้าข่ายการเป็นอุปสรรคหรือมาตรการ กีดกันทางการค้าหรือไม่ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรติดตามความคืบหน้ามาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ของ EU และประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่อยู่ระหว่างการรอบังคับใช้อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถปฏิบัติให้สอดคล้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดท่าทีของ EU ต่อการประชุม Copenhagen Summit เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://ec.europa.eu/environment/climat/future_action.htm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ