การแก้ไขปัญหากรณีสินค้าถูกจัดอยู่ภายใต้ระเบียบ Novel Food ของสหภาพยุโรป

ข่าวทั่วไป Thursday November 5, 2009 15:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--คต. นายวิจักร วิเศษน้อย รักษาราชการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า สภายุโรปและคณะมนตรียุโรปได้กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการวางตลาดสินค้าประเภท Novel Food ซึ่งหมายถึง (1) อาหารที่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการบริโภคในสหภาพยุโรปอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 (วันที่บังคับใช้กฎระเบียบ) (2) อาหารที่มีที่มาจากพืชหรือสัตว์ ที่ใช้เทคนิคการผสมพันธุ์ที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิมหรือแบบที่ยังไม่แพร่หลาย ซึ่งไม่ได้มีการใช้มาก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 และ (3) อาหารที่มาจากการใช้ขั้นตอนการผลิตแบบใหม่ ไม่ได้มีการใช้มาก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ขั้นตอนการผลิตแบบใหม่นี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ (composition) หรือโครงสร้าง (structure) ของอาหาร ทำให้มีผลกระทบต่อคุณค่าทางอาหาร (nutritional value) หรือการเผาผลาญ (metabolism) หรือระดับของสารเคมี (substances) ทั้งนี้ เพื่อให้อาหารที่ผลิตขึ้นจากนวัตกรรมใหม่ๆ มีความปลอดภัย โดยผู้ประกอบการต้องยื่นขออนุญาตไปที่คณะกรรมาธิการยุโรปและคณะกรรมาธิการฯ จะส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานความปลอดภัยอาหาร (EFSA : European Food Safety Authority) เพื่อประเมินความเสี่ยง หากไม่มีข้อโต้แย้งจากประเทศสมาชิกหรือ EFSA ภายใน 5 เดือน อาหารนั้นจึงจะสามารถวางจำหน่ายในสหภาพยุโรปได้ ระเบียบดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าสินค้าจากไทย หากเป็นสินค้าที่มีการขายต่อจากประเทศ ผู้นำเข้าเดิมไปยังประเทศสมาชิกอื่น เช่น เดิมสเปนนำเข้าสินค้าจากเบลเยี่ยม ต่อมานำเข้าโดยตรงจากไทย ทำให้สินค้าไทยบางรายการถูกปฏิเสธการนำเข้า เช่น ล่าสุดสเปนปฏิเสธการนำเข้าสินค้า Dim Sum ที่มีส่วนประกอบของแห้ว (Water chestnut) จากไทย โดยอ้างว่าแห้วเป็น Novel Food และไม่มีหลักฐานยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าปลอดภัยต่อการบริโภคของมนุษย์ ต่อมาเบลเยี่ยมซึ่งเคยนำเข้าแห้วจากไทย ได้มีหนังสือรับรองว่าแห้วไม่ใช่ Novel Food รวมทั้งระบุว่าได้มีการบริโภคในอียูก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 รวมทั้งได้ส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวให้แก่ DG-SANCO ทราบ เพื่อให้ประสานงานโดยตรงกับทางการสเปนและแจ้งเวียนแก่ประเทศสมาชิก EU อื่นๆ ทราบ เพื่อให้ยกเลิกการปฏิเสธนำเข้าแห้วและผลิตภัณฑ์ที่มีแห้วเป็นส่วนประกอบในทันที รายละเอียดสามารถดูได้จากเว็บไซต์ www.health.fgov.be นายวิจักรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ส่งออกไทยควรระมัดระวังปัญหาทำนองเดียวกันนี้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้อีก เนื่องจากสเปนเคยใช้ประเด็น Novel Food ปฏิเสธสินค้านำเข้าจากไทย เช่น หน่อไม้กระป๋อง ใบมะกรูดในเครื่องแกงเขียวหวาน และล่าสุดแห้วใน Dim sum ที่มา : สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศฯ ณ กรุงบรัสเซลส์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ