กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--การบินไทย
ฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือไทยคาร์โก้ ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 LRF ซึ่งเป็นเครื่องบินสำหรับการบรรทุกสินค้า (Freighter) เตรียมให้บริการได้ในปี 2553
นายพฤทธิ์ บุปผาคำ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ รักษาการกรรมการผู้จัดการฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไทยคาร์โก้ ได้ลงนาม Block Space Agreement ทั้งลำ กับบริษัท เซาท์เทิร์น แอร์ เพื่อเป็นเครื่องบินสำหรับบรรทุกสินค้าโดยเฉพาะ โดยใช้เครื่องบินรุ่น โบอิ้ง777-200 LRF ผลิตใหม่จากโรงผลิตของบริษัท โบอิ้ง ที่ได้รับการพัฒนาด้านการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณต่ำ สามารถบินได้ระยะทางไกลโดยไม่ต้องแวะเติมน้ำมัน บรรทุกสินค้าได้สูงสุดถึง 103 ตัน ซึ่งการบินไทยและเซาท์เทิร์นแอร์ได้ตกลงเงื่อนไขการ Block Space โดยบริษัท Southern Air Inc. (SAI) เป็นผู้ให้บริการและปฏิบัติการบิน เป็นเจ้าของเครื่องบิน สิทธิการบิน (Traffic Right) ดูแลบำรุงรักษาเครื่องบิน และเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติการบินทั้งหมด ยกเว้นเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิง การบริการภาคพื้นที่กรุงเทพฯ และการบริการคลังสินค้าในจุดบินต่างๆ โดยการบินไทยจะเป็นผู้กำหนดเส้นทางบินและตารางบินเอง
การบินไทยจะได้รับมอบเครื่องบินบรรทุกสินค้า (Freighter) ทั้ง 2 ลำดังกล่าวในปี 2553 โดย ลำแรกในเดือนกุมภาพันธ์ และลำที่ 2 ในเดือนมีนาคม สัญญาเช่ามีกำหนด 24 เดือน และจะเริ่มให้บริการ ขนส่งสินค้าในเส้นทางบินกรุงเทพฯ - ยุโรปเป็นหลัก เพื่อลดปัญหาความคับคั่งของสินค้าในเที่ยวบินออกจากกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการขนส่งสินค้าออกจากประเทศไทยไปยังยุโรป และเพิ่มปริมาณบรรทุกสินค้าในพื้นที่ใต้ท้องของเที่ยวบินโดยสารขาเข้าจากเมืองต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถที่จะปรับเปลี่ยนเส้นทางบิน และความถี่ในการบินทันทีตามการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของตลาด ซึ่งการ Block Space เครื่องบินบรรทุกสินค้าในครั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับไทยคาร์โก้ในปีหน้าเพิ่มขึ้นรวมประมาณร้อยละ 11 ซึ่งเกิดจาก Freighter 9% และ feeder ที่เพิ่มขึ้น 2% เป็นอย่างน้อย
จากสัญญาซื้อพื้นที่ระวางบนเครื่องบินบรรทุกสินค้า ทำให้ไทยคาร์โก้สามารถเพิ่มพื้นที่ระวางเพื่อการขนส่งได้สูงถึง 14% หรือประมาณ 9,150 ตัน ต่อสัปดาห์ ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดที่เป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจกลับมาเติบโตในอัตราเช่นเดิม ก็จะมีการพิจารณาเพิ่ม เที่ยวบินและพื้นที่ระวางได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการจัดหาพื้นที่ระวางเพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่องต่อไป