การนำเข้า-ส่งออกสินค้า ณ สนามบินสุวรรณภูมิ

ข่าวทั่วไป Monday October 9, 2006 14:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
กรมศุลกากร ไม่มีปัญหาเรื่องการให้บริการผ่านพิธีการศุลกากรเนื่องจากรูปแบบเอกสาร ผ่านพิธีการ และการปฏิบัติพิธีการที่ใช้ที่สุวรรณภูมิเป็นแบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด เหมือนกับระบบที่ดอนเมือง
นายสุริยา สุขอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า เนื่องจากพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิทั้งหมดเป็นพื้นที่เขตปลอดอากร โดยกรมศุลกากรได้อนุมัติให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) เป็นผู้จัดตั้งเขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามกฎหมายศุลกากร โดยระบบงานตรวจปล่อยสินค้า ได้กำหนดให้เชื่อมต่อระบบ e-Customs กับระบบ ACCS ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้า
เนื่องจากระบบ ACCS ที่ ทอท. จะนำมาใช้ในการบริหารเขตปลอดอากรท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ แต่ยังไม่สามารถใช้การได้ นั้น ทอท. ในฐานะผู้บริหารเขตปลอดอากรได้ร้องขอกรมศุลกากรให้นำระบบ EDI มาใช้ในเขตปลอดอากรเช่นเดียวกับที่ดอนเมืองไปก่อน ซึ่งระบบ EDI ของกรมศุลกากรได้มีการใช้มาเป็นระยะเวลานานนับสิบปี และ ใช้ทั่วประเทศไม่มีปัญหาแต่ประการใด ทั้งนี้ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรจะต้องเป็นผู้เชื่อมโยงระบบให้เข้ากับระบบ EDI ตามเงื่อนไขและสัญญาที่ให้ไว้ แต่ปรากฎว่า บริษัทกรุงเทพการบิน (BFS) หนึ่งในผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรไม่สามารถดำเนินการเชื่อมโยงกับระบบ EDI ของกรมศุลกากรได้ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาความขลุกขลักต่าง ๆ เช่น หาสินค้าไม่พบ ไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้ผู้ประกอบการได้ในการเปิดวันแรกๆ สำนักงานศุลกากรฯได้มีหนังสือแจ้งปัญหาดังกล่าว ให้ ทอท.ในฐานะผู้บริหารเขตปลอดอากรรีบดำเนินการแก้ไขโดยด่วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหมักหมมต่อไปทางหนึ่ง ส่วนอีกทางหนึ่งสำนักงานศุลกากรได้ดำเนินการตรวจปล่อยสินค้าในรูประบบ manual แทน
อย่างไรก็ตาม เขตปลอดอากรที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นเรื่องใหม่ การดำเนินการช่วงแรกหากเข้มงวดตามระเบียบอาจมีปัญหาขลุกขลัก กรมศุลกากรจึงได้มีระเบียบกรมศุลกากรที่ 34/ 2549 ลงวันที่ 28 กันยายน 2549 ชะลอการบังคับใช้ระเบียบเกี่ยวกับเขตปลอดอากรฯ แต่ให้นำระเบียบปฏิบัติที่ดอนเมืองมาบังคับใช้ไปพลางก่อน
กรณีมีผู้ให้ข่าวว่า รูปแบบเอกสารผ่านพิธีการที่สุวรรณภูมิไม่เหมือนกับที่ดอนเมือง สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขอชี้แจงว่า การปฏิบัติพิธีการตลอดจนเอกสารที่ใช้เป็นแบบและมาตรฐานเดียวกัน ส่วนในด้านปัญหาความแออัดของสินค้าขาออก ที่กระจุกตัวที่สถานีตรวจสอบศุลกากร (Checking Post ) ซึ่งมีช่องตรวจอยู่ทั้งหมด 20 ช่องตรวจ เกิดขึ้นจากการไม่มีสถานที่เก็บรักษาสินค้าเพื่อรอการขนขึ้นเครื่องของเขตปลอดอากร ซึ่งกรมศุลกากรได้ขอร้องไปยังผู้บริหารเขตปลอดอากร (TAGS) ให้ช่วยเปิดคลังสินค้าเพิ่ม เพื่อลดภาระความแออัดทางด้านการจราจร
สำหรับ การส่งออกบรรดาของสดเสียง่าย เช่น พืชผักผลไม้ ที่มีความจำเป็นจะต้องผ่านการตรวจจากหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ด่านตรวจพืช ฯลฯ โดยต้องกระทำก่อนเข้าเขตปลอดอากร ณ อาคาร CE (Customs Export) แต่เนื่องจากชิปปิ้งยังไม่เคยชินกับสถานที่ดังกล่าว ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น กรมศุลกากร ได้ผ่อนปรนให้สามารถเข้าไปเข้าตรวจสินค้าภายในเขตปลอดอากรได้เป็นกรณีเฉพาะราย ตามความจำเป็น
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ