ถอดบทเรียนความรู้สู่ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงในฝัน

ข่าวทั่วไป Thursday November 5, 2009 16:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล จากการที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในภาคีของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการวางเป้าหมายในโรงเรียน 40,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2554 โดยมูลนิธิฯ ได้สนับสนุนการดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อหนุนเสริมให้ผู้บริหารและครูน้อมนำแนวคิดความพอเพียงไปใช้กับการบริหารจัดการภายในโรงเรียน ควบคู่กับการปลูกฝังคุณลักษณะของความพอเพียงให้กับนักเรียน ในจำนวนนี้มีโรงเรียนพอเพียงที่มีความพร้อมเป็นแกนนำในการพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจำนวน 17 โรงเรียน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ และชุมชนข้างเคียงในรูปของศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้วย โดยระหว่างวันที่ 29 -30 ตุลาคม 2552 มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงจัดให้มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมกันถอดบทเรียนการเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนพอเพียงในเครือข่ายขึ้น โดยมีผู้บริหารโรงเรียนกว่า 30 คนเข้าร่วมแบ่งปันความคิดเห็น ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนได้ร่วมกันนำเสนอในส่วนของข้อดีหรือผลกระทบเชิงบวก และอุปสรรคปัญหาของการพัฒนาโรงเรียนเป็นศูนย์ฯ ที่สำคัญในหลายประเด็น ในส่วนของผลกระทบเชิงบวกหรือข้อดีจากการเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ข้อดีข้อแรกของการเป็นศูนย์ฯ ทำให้โรงเรียนและชุมชนมีความตื่นตัวในเรื่องของความพอเพียงมากขึ้น "การพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงพลอยทำให้ชุมชนได้ตื่นตัวไปด้วย เราก็รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ พบว่าครูและนักเรียนเองก็เกิดความกระตือรือร้น ครูบางท่านไม่เคยสนใจเรื่องนี้มาก่อน พอเห็นคนนอกมาแสดงความสนใจมากๆ ก็ปรับทัศนคติใหม่เปิดใจรับและเข้ามาศึกษา" อาจารย์สุนีย์ พาณิชย์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ชี้ถึงประโยชน์ของการเป็นศูนย์ฯ โดย ข้อดีประการต่อมาของการเป็นศูนย์ฯ ยังกระตุ้นให้โรงเรียนถอดบทเรียนการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาออกมาเป็นสื่อการเรียนรู้ภายในศูนย์ฯ ที่ชัดเจน เข้าใจง่าย สามารถใช้ในการเผยแพร่ขยายผลองค์ความรู้ของโรงเรียนได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน การพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนแกนนำพบอุปสรรคปัญหาใน 3 ประเด็น ได้แก่ ประสิทธิภาพในการขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้มาศึกษาดูงาน แยกได้เป็นปัญหาผู้ชมงานมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงแตกต่างกัน จำนวนไม่น้อยไม่มีความรู้มาก่อน และบางส่วนยังเข้าใจผิดว่าโรงเรียนพอเพียงจะต้องมีฐานะยากจน กินน้อย ใช้น้อย เมื่อไม่เป็นอย่างที่คิดก็ผิดหวังและพากันไม่เปิดใจเรียนรู้ ขณะที่ผู้ศึกษาดูงานส่วนใหญ่ขาดความตั้งใจจริงในการมาเรียนรู้ ซึ่งนอกจากผู้มาศึกษาดูงานจะไม่ได้ประโยชน์แล้วยังทำให้เจ้าบ้านเสียกำลังใจอีกด้วย ปัญหาต่อมาคือ ผลกระทบต่อการเรียนการสอนของครูและนักเรียน โดยครูต้องปลีกตัวจากเวลาสอนหนังสือมาเป็นวิทยากรและใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งจัดทำสื่อและเอกสารสำหรับผู้ชมงาน และปัญหาสุดท้ายคือ ผลกระทบด้านงบประมาณที่เกิดขึ้นจากการต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมงาน ทั้งที่เป็นค่าอาหารเครื่องดื่ม และค่าจัดทำสื่อและเอกสารประกอบการชมงาน ทำให้กระทบกับงบประมาณที่โรงเรียนมีอยู่ อาจารย์สุนีย์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเพิ่มเติมว่า “แต่เมื่อมีคนมาชมงานมากๆ ก็ส่งผลต่องบประมาณของโรงเรียนเพราะต้องจัดหาอาหารและเครื่องดื่มไว้รับรอง เช่นตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้มีคณะผู้ชมงานมาเยี่ยมโรงเรียนเพียง 10 คนก็มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นกว่า 900 บาท หากเป็นเช่นนี้บ่อยๆ โรงเรียนก็ย่อมมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีกมาก” ทั้งนี้ เมื่อมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันจนเห็นปัญหาหลักๆ ที่เป็นคอขวดแล้ว จึงมีการระดมความคิดเห็นถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น สำหรับปัญหาข้อแรกคือประสิทธิภาพในการขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้มาศึกษาดูงาน อาจารย์สิริลักษณ์ เฟื่องกาญจน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เสนอว่า โรงเรียนควรมอบหมายให้มีครูผู้ทำหน้าที่ประสานงานการศึกษาชมงานโดยเฉพาะ ที่สำคัญคือต้องสอบถามข้อมูลเบื้องต้นของคณะผู้ชมงานโดยละเอียดว่ามีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงมากน้อยเพียงไหน และสนใจชมงานประเด็นใดบ้าง เพื่อโรงเรียนจะได้เตรียมเนื้อหาสาระไว้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแบ่งได้ทั้งที่เป็นกลุ่มผู้บริหาร ครูระดับปฏิบัติการ จนถึงนักเรียนและชาวบ้านที่เข้ามาเรียนรู้ นอกจากนี้ในวงแลกเปลี่ยนยังมีการเสนอให้มีการสรุปบทเรียนร่วมกันระหว่างโรงเรียนซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและผู้มาศึกษาดูงานเพื่อทบทวนว่าได้มีการเรียนรู้เรื่องใดบ้าง ขณะเดียวกันยังอาจใช้แบบประเมินการชมงานเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ผู้ชมงานชมงานอย่างตั้งใจมากขึ้น ทั้งยังเป็นการช่วยประเมินผลการทำงานของศูนย์ฯ เพื่อนำไปปรับใช้ในการปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ปัญหาข้อที่ 2 คือผลกระทบต่อการเรียนการสอนของครูและนักเรียน อาจารย์ประยุทธ สุขวารี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโป่งสามสิบ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เสนอว่า โรงเรียนอาจจัดให้มีนักเรียนแกนนำเป็นผู้พาเยี่ยมชมงานเพื่อไม่ให้กระทบงานสอนของครูมากนัก ส่วนอีกหนึ่งความคิดเห็นเสนอว่าควรจัดให้มีการชมงานเฉพาะวันหยุดเพื่อไม่รบกวนการเรียนการสอน ในขณะที่อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เสนอว่า "โรงเรียนจำเป็นต้องเป็นผู้กำหนดช่วงเวลาชมงานเอง ไม่ใช่จัดตามความต้องการหรือความสะดวกของผู้มาศึกษาดูงาน เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการการชมงานได้สะดวก ไม่เกิดภาระและปัญหาติดตามมาภายหลัง" ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายคือผลกระทบด้านงบประมาณที่หลายโรงเรียนแก้ไม่ตก อาจารย์ประยุทธ เสนอต่อไปว่า โรงเรียนอาจขอความร่วมมือให้คณะผู้ชมงานร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เช่น การตั้งตู้รับบริจาค ขณะที่อีกความคิดเห็นหนึ่งเสนอให้มีการจัดทำหลักสูตรการชมงานที่มีค่าลงทะเบียนที่ชัดเจนและแจ้งให้ผู้เข้ามาศึกษาดูงานทราบ ส่วนการจัดทำเอกสารประกอบการชมงาน หากจัดทำเป็นไฟล์เอกสารให้สามารถดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลาก็จะช่วยโรงเรียนลดภาระงานเอกสาร และประหยัดรายจ่ายได้มาก เรียกได้ว่าเป็นวงแลกเปลี่ยนที่เป็นทั้งตัวอย่างของการนำเครื่องมือการถอดบทเรียนความรู้มาใช้หาทางออกของปัญหาร่วมกันอย่างได้ผล และเป็นการระดมความคิดเห็นหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาให้เกิดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่เข้มแข็ง เป็นกองหนุนเผยแพร่หลักเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมไทยต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ