กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย
ทปอ. ประกาศจัดตั้งสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ดำเนินงาน Admissions ปีการศึกษา 2553 สานต่อองค์ประกอบเดิมปี 2554
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ รองประธาน ทปอ. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยภายหลังการประชุมสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2552 ว่า “ทปอ.ได้จัดตั้งสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ตามทะเบียนเลขที่ จ.4799/2552 มีผลตั้งแต่ 3 ก.ค.2552 โดยมีรายชื่อคณะผู้ก่อตั้ง 7 ท่าน ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดแรกของสมาคม ดังนี้คือ 1.นายมณฑล สงวนเสริมศรี (นายกสมาคม) 2. นายไกรวุฒิ เกียรติโกมล (อุปนายก) 3. นายสุรพล นิติไกรพจน์ (กรรมการและปฏิคม) 4. นางรำไพ สิริมนกุล (กรรมการและนายทะเบียน) 5. นายหริรักษ์ สูตะบุตร (กรรมการและประชาสัมพันธ์) 6. นายสุมนต์ สกลไชย (กรรมการและเหรัญญิก) 7.นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ (กรรมการและเลขานุการ) แต่เนื่องจากนายกสมาคมชุดแรกหมดวาระการเป็นอธิการบดี จึงต้องมีการเลือกตั้งนายกสมาคมใหม่ในการประชุมครั้งต่อไป วันที่ 19 ธ.ค.2552 ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และจะต้องมีการจดทะเบียนแก้ไขรายชื่อคณะกรรมการชุดใหม่อีกครั้งโดยเร็ว สำหรับสมาชิก สอท. จะประกอบด้วย สมาชิกสามัญ ซึ่งเป็นอธิการบดีในมหาวิทยาลัยของรัฐและในกำกับของรัฐที่เคยอยู่ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย, สมาชิกสมทบ จะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือมีอุปการคุณแก่สมาคม และสมาชิกกิตติมศักดิ์ จะเป็นอดีตอธิการบดีและอดีตประธาน ทปอ. ในส่วนคณะกรรมการบริหาร สอท. เบื้องต้นจะยึดตามโครงสร้างเดิมของ ทปอ.คือ ประธาน ทปอ.เป็นนายกสมาคม และรองประธาน ทปอ.เป็นอุปนายก มีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี โดยขณะนี้ สอท.มีภารกิจหลักคือ ดำเนินงาน Admissions ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 เป็นต้นไป”
ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวภายหลังการประชุมสามัญ ทปอ. ครั้งที่ 5/2552 ว่า “มติ ทปอ.ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับ Admissions 2553-2554 ดังนี้ 1. องค์ประกอบและค่าร้อยละของกลุ่มสาขาวิชาในระบบ Admissions ปีการศึกษา 2553-2554 ยังเหมือนเดิม 2. คะแนน GAT-PAT ใช้ได้ 2 ปีนับจากวันสอบ 3. การสอบ GAT-PAT ให้สอบได้ตั้งแต่ ม.6 และสอบปีละ 3 ครั้ง เพื่อสามารถนำผลสอบของเดือนกรกฎาคมไปใช้ในการสมัครรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ทันด้วย 4. ไม่มีการเพิ่ม PAT ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น PAT 2, PAT 6 หรือ PAT อื่นๆ ก็ตาม เพราะหากให้นักเรียนสอบ PAT มากขึ้นอาจย้อนกลับไปสู่การสอบในลักษณะ Entrance เหมือนเดิม 5. ใช้คะแนนดิบในการคิดคะแนน Admissions ปีการศึกษา 2553 และให้ตั้งคณะกรรมการที่เชี่ยวชาญทำการศึกษาวิธีคิดคะแนนโดยใช้คะแนนดิบและคะแนนมาตรฐานอีกครั้ง เพื่อเสนอในที่ประชุมและสรุปผลการใช้คะแนน Admissions ในปีการศึกษา 2554 ต่อไป”
สุดท้าย รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (Admissions) และนายกสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความเข้าใจในระบบ Admissions ปัจจุบันว่า “ผู้ปกครองบางท่านเข้าใจผิดว่าระบบ Admissions กับระบบ Entrance เหมือนกัน แต่ความจริงต่างกัน โดยระบบ Entrance เดิมนั้นเป็นการกำหนดรายวิชาให้เด็กสอบและเรียงลำดับคะแนนเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย แต่ Admissions ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2549-ปัจจุบันนั้นเป็นการวัดความถนัดของเด็กเพื่อให้ได้เข้าศึกษาในคณะที่ตรงตามความสามารถและความสนใจของเด็ก จึงอยากให้ผู้ปกครองทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง และติดตามผลการคัดเลือกในระบบ Admissions ปีการศึกษา 2553-2554 และปีต่อๆ ไปที่อาจมีการปรับเปลี่ยนบ้างตามความเหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้นของระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบ Admissions ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับการพัฒนาและความหลากหลายทางวิชาการในระดับอุดมศึกษาของไทยด้วย”
สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) จึงพร้อมเดินหน้าดำเนินการ Admissions อย่างเต็มตัว ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 เป็นต้นไป และมุ่งมั่นพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (Admissions) ให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับ