กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคาดการณ์แนวโน้มการเกิดสาธารณภัยของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศเริ่มหนาวเย็นอากาศแห้ง และลมแรง ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าไม้ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก อาจมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางพื้นที่ สถานการณ์ภัยแล้งไม่รุนแรงมากนักในขณะที่ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก วาตภัย และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยได้
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประเมินและคาดการณ์แนวโน้มการเกิดสาธารณภัยของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2552 จากข้อมูลลักษณะอากาศของหน่วยงานต่างๆ พบว่า ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มมีอากาศหนาวเย็นก่อนภาคอื่นๆ โดยในระยะแรกจะมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางพื้นที่ จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง ส่งผลให้มีอากาศหนาวถึงหนาวจัด มีหมอกในตอนเช้า ซึ่งในช่วงที่ลมหนาวปกคลุมพื้นที่ต่างๆ ทำให้สภาพอากาศแห้ง อาจส่งผลให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีระบบการจัดการน้ำไม่ดี นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าไม้ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก จะมีอากาศเย็นและหมอกในตอนเช้า อาจมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงบางพื้นที่ และเริ่มเกิดสถานการณ์ภัยแล้ง แต่ยังไม่รุนแรงมากนัก ในขณะที่ภาคใต้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและตกหนักมาก รวมทั้งอาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวทวีกำลังแรงเป็นพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้มีฝนตกหนักเพิ่มมากขึ้น
ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก วาตภัย และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า สภาพอากาศในฤดูหนาวอุณหภูมิที่ลดลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน จึงขอให้ประชาชนรักษาดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รวมถึงเพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวกับไฟทุกประเภททั้งการประกอบอาหาร จุดธูปเทียน สูบบุหรี่ เป็นต้น เนื่องจากฤดูหนาวสภาพอากาศแห้งและลมพัดแรง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าสูงกว่าปกติ สำหรับการขับขี่รถในช่วงที่มีหมอกลงจัด ควรเปิดไฟต่ำหรือไฟตัดหมอกจะช่วยให้มองเห็นสภาพเส้นทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ขับรถเร็ว เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ นอกจากนี้เกษตรกรควรสร้างสิ่งปกคลุมผลผลิตทางการเกษตร เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากน้ำค้างแข็ง ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร รวมถึงวางแผนปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการทำเกษตร สำหรับประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคใต้ให้ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในพื้นที่และสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีสีขุ่นข้น ให้รีบอพยพและขนย้ายสิ่งของไปยังที่ปลอดภัย เพราะอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมฉับพลันขึ้นได้ สุดท้ายนี้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสภาพอากาศหนาวเย็นอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป