กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--ปภ.
จากพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาเมื่อวานนี้ พบว่าลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไปมีฝนตกชุก และมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากที่อาจจะเกิดขึ้นใน ระยะ 2-3 วันต่อจากวันนี้ สำหรับคลื่นลมในอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วง วันที่ 5-6 พฤศจิกายน นี้ อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นต่อไปอีกสองสามวัน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอฝากคำแนะนำการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมืออุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ดิน โคลนถล่ม เพื่อสร้างความปลอดภัยสำหรับครอบครัวในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มของจังหวัดสุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล เตรียมเครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์หรือของใช้ที่จำเป็น เช่น มีด เชือก ยารักษาโรค ไฟฉาย ให้พอใช้อย่างน้อยสามวัน พกกระเป๋าที่บรรจุเอกสารสำคัญ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน สูติบัตร ติดตัวไว้ตลอดเวลา จัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินให้พร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดภัยพิบัติ และถ่ายสำเนาเอกสารเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต บัตรประกันสังคม ไว้หลายๆชุด และเก็บไว้ในที่ปลอดภัยตามจุดต่างๆของบ้าน เรียนรู้ตำแหน่งและศึกษาวิธีการเปิดปิดของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ตำแหน่ง วาว์ลประตูน้ำ คัตเอาท์ไฟฟ้า วาว์ลถังก๊าซ อีกทั้งควรสำรวจเส้นทางสถานที่ตั้งของสถานีตำรวจและสถานีดับเพลิงในพื้นที่ รวมทั้งสำรองเงินสดไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน หากไม่มีไฟฟ้า เครื่องบริการเงินด่วน จะไม่สามารถทำงานได้ อีกทั้งควรจดชื่อ - นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ของสมาชิกในครอบครัว หรือญาติที่อยู่ต่างจังหวัด เพื่อใช้สำหรับติดต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น เสียชีวิต สูญหาย เป็นต้น หากมีเด็กอาศัยอยู่ ให้เขียนชื่อ - นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ผู้ปกครอง ติดไว้กับเสื้อผ้าของเด็ก เพื่อป้องกันการพลัดหลง จากการอพยพหนีภัย กรณีสมาชิกในครอบครัวพูดภาษาไทยไม่ได้ ให้เตรียมแผ่นการ์ดเขียนเป็นภาษาไทยระบุชื่อบุคคล ที่อยู่ และความต้องการพิเศษ เช่น โรคประจำตัว อาการแพ้ยา พกติดตัวไว้ตลอดเวลา
สำหรับหัวหน้าครอบครัว ควรวางแผนรับมือภัยพิบัติ และสอนให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวเรียนรู้เส้นทางหนีภัย พื้นที่ปลอดภัย และการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้น หมั่นฝึกซ้อมการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติและการอพยพหลบภัยตามเส้นทางที่ปลอดภัยอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละสองครั้ง รวมทั้งรู้จักจัดเตรียมสถานที่ปลอดภัยภายในบ้านเผื่อไว้ จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้มีความปลอดภัย ด้วยการหมั่นซ่อมแซมโครงสร้างอาคารบ้านเรือนให้มีความมั่นคงแข็งแรง มีประตูทางออกหลายด้าน และจัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ ไม่กีดขวางเส้นทางออกบริเวณประตู บันไดหรือระเบียงบ้าน หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องรู้เส้นทางอพยพหรือจุดนัดพบที่ปลอดภัยภายหลังภัยพิบัติสิ้นสุดลง ในกรณีที่เกิดภัยควรให้ความช่วยเหลือเด็กและผู้สูงอายุก่อน รวมทั้งรีบอพยพออกจากพื้นที่เกิดภัยอย่างเร่งด่วน อย่ามัวแต่ห่วงทรัพย์สิน เพราะชีวิตมีความสำคัญมากกว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในระดับครอบครัว จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของท่านได้
ด้วยความห่วงใย จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทุกพื้นที่ ทุกเวลา สายด่วนนิรภัย 1784