อียูกำหนดมาตรฐานใหม่ด้านความปลอดภัยสำหรับผลิตภัณฑ์ เครื่องนอนเด็กทารกและเด็กเล็ก

ข่าวทั่วไป Friday November 6, 2009 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--คต. นายวิจักร วิเศษน้อย รักษาการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2552 คณะกรรมการด้านความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ (EU General Product Safety Committee) ได้ประกาศข้อเสนอมาตรฐานด้านความปลอดภัยสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องนอนเด็กทารกและเด็กเล็ก ซึ่งได้แก่ ผ้าห่ม ถุงนอนเด็ก และที่นอนสำหรับเตียงนอนเด็ก วัตถุประสงค์เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดกับเด็กทารกและ เด็กเล็กจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดกับเด็กทารกและเด็กเล็ก ส่วนมากเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องนอนเหล่านี้ ซึ่งตามสถิติของสหภาพยุโรประหว่างปี พ.ศ. 2548-2550 มีอุบัติเหตุจำนวน 17,000 ครั้ง เกิดขึ้นกับเด็กทารกและเด็กเล็กอายุระหว่าง 0-4 ปี มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เช่น ที่นอนสำหรับเตียงนอนเด็ก ควรจะได้รับการออกแบบให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุดที่เด็กจะติดอยู่ในเตียงหรือได้รับอากาศหายใจไม่เพียงพอ โดยต้องออกแบบให้ไม่มีช่องว่างระหว่างเตียงและที่นอน และเด็กไม่สามารถที่จะยกที่นอนขึ้นทับตนเองได้ง่าย สำหรับถุงนอนเด็กทารกและที่กันกระแทกระหว่างเตียง ผ้าห่ม และเตียงเด็ก ไม่ควรมีสาย ช่องว่าง/รู หรือชิ้นส่วนที่หลุดออกได้ หรือวัสดุใด ๆ ที่อาจหลุด หลวม ซึ่งจะทำให้เกิดการกดทับจนอากาศไม่พอหายใจหรือเกิดอาการเจ็บปวดอื่น ๆ นอกจากนี้ จะยังมีมาตรการด้านความปลอดภัยอื่น ๆ เพื่อลดและกำจัดการออกแบบที่ไม่เหมาะสม เช่น การออกแบบเตียงเด็กที่มีโครงสร้างไม่ดี เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เด็กทารกและเด็กเล็กจะตกจากเตียงและบาดเจ็บได้ รวมทั้งจะออกข้อกำหนดให้มีคำแนะนำการใช้และคำเตือนสำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และข้อกำหนดด้านสุขอนามัยต่าง ๆ กำกับบนผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างชัดเจนด้วย นายวิจักรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรปดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาจากสหภาพยุโรปและคณะมนตตรียุโรปในกระบวนการตัดสินใจของสหภาพยุโรป ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จากนั้นจะต้องผ่านการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจากกลุ่มคณะกรรมาธิการยุโรป หลังจากนั้น จะส่งข้อเสนอต่อไปยัง European Standadisation Committee (CEN) เพื่อพัฒนามาตรฐานด้านความปลอดภัยดังกล่าวต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี ดังนั้น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวของไทยเพื่อส่งออกมายังตลาดยุโรปควรติดตามมาตรฐานที่กำลังจะออกใหม่นี้อย่างใกล้ชิดที่ http://europa.eu/rapid/pressReleaseAction.do?reference=IP/09/1554&format=HTML&aged=0&language=EN&guilangue=en

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ