กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสาน 12 จังหวัดภาคใต้ เตรียมรับมือภาวะฝนตกหนักในระยะ 2-3 วันนี้ (วันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2552) ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม รวมถึงกำชับมิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยแจ้งข้อมูลสถานการณ์ภัยแก่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯในพื้นที่ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที พร้อมสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตลอดจนจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการประสานติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทะเลจีนตอนใต้และประเทศมาเลเซีย จะเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักในช่วง 2-3 วันนี้ (วันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2552) อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม วาตภัย และคลื่นซัดฝั่งในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 12 จังหวัดดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมการป้องกันอันตรายจากภาวะฝนตกหนักที่อาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งสั่งการให้มิสเตอร์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย แจ้งเตือนประชาชน และรายงานสถานการณ์ภัยแก่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนสั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลาและเขต 18 ภูเก็ต เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น
โดยกำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง และรายงานสถานการณ์และความช่วยเหลือให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทราบทุกระยะจนกว่าสถาการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพพร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์รุนแรงให้จังหวัดดำเนินการช่วยเหลือประชาชนตามขั้นตอนของแผนป้องกันภัยของจังหวัด รวมทั้งให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดที่ประสบภัยจัดกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งนำเครื่องมือ เครื่องจักรเข้าสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที
นายอนุชา กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 12 จังหวัดให้ติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด
หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในพื้นที่และสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีสีขุ่นข้น ให้รีบอพยพและขนย้ายสิ่งของไปยังที่ปลอดภัย เพราะอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมฉับพลันขึ้นได้ ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ สุดท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม และคลื่นซัดฝั่ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2432200 PR DDPM