เอ็มเอฟซีผู้นำนวัตกรรมการลงทุน เปิดตัวกองทุนไทยสร้างสรรค์ โดยมีสถาบันการเงินภาครัฐร่วมสนับสนุน สอดรับนโยบายรัฐส่งเสริมธุรกิจที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ก้าวสู่ตลาดโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 9, 2009 08:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--เวิรฟ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดตัวกองทุนไทยสร้างสรรค์ (Thailand Creativity Fund) มูลค่า 800 ล้านบาท อายุโครงการ 7 ปี ดึงสถาบันการเงินภาครัฐร่วมสนับสนุนโครงการเน้นลงทุนโดยตรงในธุรกิจที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นปัจจัยทุนในการดำเนินธุรกิจให้สามารถก้าวไกลสู่ตลาดโลก สอดรับนโยบายรัฐที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรม ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐที่ได้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งที่ต้องการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น บลจ.เอ็มเอฟซี ในฐานะบริษัทจัดการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมการลงทุนใหม่ ๆ มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดตั้งกองทุนไทยสร้างสรรค์ (Thailand Creativity Fund) ขึ้น มีมูลค่าโครงการ 800 ล้านบาท อายุโครงการ 7 ปี โดยในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 บริษัทได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือกองทุนไทยสร้างสรรค์ระหว่างเอ็มเอฟซีกับสถาบันต่างๆ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในการสนับสนุนธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้สามารถสร้างรายได้และขยายธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งจะมีผลสนับสนุนต่อเนื่องโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว กองทุนไทยสร้างสรรค์ (Thailand Creativity Fund) เป็นกองทุนที่มีนโยบายหลักในการลงทุนโดยตรง (Direct Investment) ในตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ของบริษัทที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นทุนในการดำเนินธุรกิจ การผลิตหรือการบริการ โดยกองทุนดังกล่าวจะช่วยสนับสนุน และเข้าไปช่วยขยายฐาน ให้กับธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าให้มีศักยภาพและมีโอกาสเจริญเติบโตขึ้นในอนาคต รวมทั้งสามารถก้าวเข้าสู่การส่งออกและสร้างศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งการเข้าไปร่วมลงทุนจะเป็นการลงทุนในธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานอยู่ก่อนแล้ว(Track Record) โดยลักษณะของการลงทุนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ในช่วง 4 ปีแรกจะเป็นช่วงของการลงทุน และในช่วง 3 ปีหลังจะเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุน ทั้งนี้ เมื่อครบอายุโครงการ 7 ปี ผู้ลงทุนสามารถลงมติเพื่อขอขยายระยะเวลาการลงทุนต่อไปได้อีก 2 ปี ทั้งนี้ คุณสมบัติของบริษัทที่กองทุนไทยสร้างสรรค์สนใจที่จะเข้าร่วมลงทุน จะต้องเป็นธุรกิจที่มีการสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดของบุคคลหรือหน่วยงาน ทักษะความชำนาญ และความสามารถพิเศษ ซึ่งก่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความมั่งคั่งและสร้างงานให้เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ กองทุนอยู่ในระหว่างการศึกษาและคัดเลือกบริษัทเป้าหมายที่มีความเหมาะสม เพื่อการเข้าร่วมลงทุน เช่น ธุรกิจซอฟท์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ธุรกิจแอนิเมชั่น การออกแบบ สินค้าแฟชั่น การพิมพ์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ การกระจายเสียง อาหาร เป็นต้น สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกบริษัทที่กองทุนจะเข้าร่วมลงทุน ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์หรือบริการมีลักษณะเฉพาะหรือมีความโดดเด่น มีผลการดำเนินงานมาแล้วอย่างน้อยช่วงเวลาหนึ่งและมีแนวโน้มที่จะสามารถเติบโตได้สูงในอนาคต ทีมผู้บริหารมีความสามารถและมีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจเป็นอย่างดี อีกทั้งมีความเต็มใจที่จะพัฒนาการบริหารจัดการให้เป็นมาตรฐานหรือมีระบบที่ดี รวมทั้งต้องการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เป็นสากล โดยที่กองทุนไทยสร้างสรรค์จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจด้านการสนับสนุนเงินทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เจริญเติบโตก้าวหน้า รวมทั้งช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้ธุรกิจที่กองทุนเข้าร่วมลงทุนได้มีโอกาสเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในอนาคต ดร.พิชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนไทยสร้างสรรค์ นอกจากจะเป็นทางเลือกใหม่ของการลงทุนเพื่อผู้ลงทุนสถาบันแล้ว การจัดตั้งกองทุนไทยสร้างสรรค์ ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต และสามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้ ซึ่งนโยบายการลงทุนของ บลจ.เอ็มเอฟซี นอกจากจะมุ่งเน้นในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว ยังมีนโยบายจะสร้างประโยชน์และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้กับประเทศชาติเช่นเดียวกัน ปัจจุบัน มูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10-12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือประมาณร้อยละ 14-17 ของรายได้ประชาชาติ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ของไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกประมาณร้อยละ 1.3 ในปี 2548 จัดอยู่ในลำดับที่ 17 ของโลก และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ระหว่างปี 2543-2548 (ข้อมูลจาก UNCTAD) อนึ่ง บริษัทที่สนใจจะขอรับการสนับสนุนการลงทุนจากกองทุนไทยสร้างสรรค์ สามารถติดต่อสอบถามมายัง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ฝ่าย Private Equity & Financial Advisory เลขที่ 199 อาคารคอลัมน์ทาวเวอร์ ชั้นจี และ ชั้น 21 - 23 ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ 0-2649-2435 โทรสาร 0-2649-2431 www.mfcfund.com การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ: คุณสุทรรศิกา คูรัตน์, คุณสุวรรณา ชีวนันทชัย คุณวงจันทร์ ตั้งทรงศักดิ์, คุณนิธิดา อัศวนิพนธ์ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เวิรฟ โทร.0-2649-2230, 0-2649-2232 โทร. 0-2204-8221, 0-2204-8226 โทรสาร 0-2259-9246 นิธิดา อัศวนิพนธ์ (นิด้า) PR Executive Verve Public Relations Consultancy

แท็ก thailand   นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ