กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--ก.พลังงาน
ก.พลังงาน เร่งเครื่อง ส่งเสริมพลังงานทดแทนเต็มสูบ หลังสภาพัฒน์ ฯ เสนอแผนการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของไทย เพื่อเตรียมขอใช้เงินกู้จากกองทุนเทคโนโลยีสะอาด หรือ CTF จากธนาคารโลก กว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท พร้อมผุดโปรเจกต์ลงทุนพลังงานสีเขียว ร่วมกับ กฟภ. เพื่อเป็นพลังงานทางเลือก และลดภาวะโลกร้อน
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงาน ได้รับการสนับสนุนพัฒนาด้านพลังงานทดแทน ด้วยการมีวงเงินกู้จากกองทุนเทคโนโลยีสะอาด หรือ Clean Technology Fund (CTF) ที่จัดตั้งโดยธนาคารโลกนั้น ปัจจุบันความคืบหน้าโครงการ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาแผนการลงทุนเพื่อการขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของประเทศไทย ซึ่งสำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ในฐานะเลขานุการ ฯ ได้มีการนำเสนอร่างแผนการลงทุน ที่จะขอใช้เงินจากกองทุน CTF ดังกล่าว โดยในส่วนของสาขาพลังงานนั้น มีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 3,094.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 111,409 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภายใต้แผนการลงทุนด้านพลังงาน ดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการที่จะส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในกิจการพลังงานทดแทน โดยจะให้มีการปล่อยเงินกู้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือเอ็กซิมแบงค์ วงเงิน 800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28,800 ล้านบาท โดยเบื้องต้นมีโครงการที่มีความพร้อม เช่น โครงการที่กรมพัฒนาที่ดิน จะสนับสนุนเอกชนร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลระดับชุมชน ขนาด 0.4 เมกะวัตต์ ใน 340 ชุมชน วงเงิน 290 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 10,440 ล้านบาท
โครงการพลังงานหมุนเวียนของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เช่น การส่งเสริมพลังงานลม แสงอาทิตย์ และพลังน้ำขนาดเล็ก กำลังผลิตรวม 224 เมกะวัตต์ วงเงิน 579 ล้านบาท โครงการพลังงานหมุนเวียนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่ง กฟภ. จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลจากเศษไม้ โดยร่วมกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) รวม 100 เมกะวัตต์ ใน100 ชุมชน วงเงินประมาณ 230 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8,280 ล้านบาท ตลอดจนโครงการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนสำหรับการอนุรักษ์พลังงานเป็นการให้เงินกู้หรือหลักทรัพย์ประกันความเสี่ยงภายใต้วงเงิน 1,370 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 49,320 ล้านบาท
นอกจากนั้น นายไกรฤทธิ์ กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการ ฯ ดังกล่าว เบื้องต้น ได้หารือกับ นายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟภ. โดยจะมีความร่วมมือระหว่าง พพ. และกฟภ. ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันในการผลักดันพลังงานทดแทน โดยส่งเสริมให้ กฟภ.หาพันธมิตรในการลงทุนพลังงานทดแทน เช่น โครงการชีวมวล จากการปลูกไม้โตเร็ว ร่วมกับออป. โครงการพลังงานลมนอกเขตชายฝั่ง (Offshore Wind Turbine) และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ รวมทั้งสนับสนุนให้ กฟภ. เข้าทำธุรกิจบริษัทจัดการพลังงาน หรือ ESCO อีกด้วย