กฟผ. พร้อมเชื่อมเครือข่ายข้อมูล จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวของกรมอุตุนิยมวิทยา

ข่าวทั่วไป Friday September 8, 2006 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--กฟผ.
ฝ่ายบำรุงรักษาโยธา กฟผ. เร่งประสานความร่วมมือในการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวระบบ DIGITAL กับกรมอุตุนิยมวิทยา โครงการแรกติดตั้งแล้วเสร็จ 4 เขื่อน
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2549 นายวัฒนา ทองศิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานในการประชุมร่วมระหว่าง กฟผ. กับ กรมอุตุนิยมวิทยา ในหัวข้อ “โครงข่ายการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวระบบ DIGITAL” โดยมี นายบุรินทร์ เวชบรรเทิง ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวอาเซียน กรมอุตุนิยมวิทยา และ นายแกว่น สีตะธนี ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา กฟผ. และ ผู้แทนจากทั้ง 4 เขื่อนที่ได้ทำการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดเแล้วเสร็จ เข้าร่วมประชุม
นายบุรินทร์ เวชบรรเทิง ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวอาเซียน กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ทำการติดตั้ง เครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวระบบ Digital เสร็จสิ้นแล้ว 15 แห่ง ทั่วประเทศไทย โดยในระยะแรก ได้ทำการติดตั้งในพื้นที่ของ กฟผ.แล้วเสร็จ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนปากมูล ส่วนโครงการระยะที่ 2 คาดว่าจะทำการติดตั้งที่เขื่อนภูมิพล เขื่อนรัชชประภา เขื่อนสิริกิต์ เขื่อนบางลาง และ เหมืองแม่เมาะ ซึ่งจะทำการศึกษารายละเอียดของสภาพพื้นที่ต่อไป ส่วนการเชื่อมโยงข้อมูลกับเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ติดตั้งไว้ที่เขื่อนทั้งสี่แห่งของ กฟผ. ในขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยากำลังเร่งทำการติดตั้งโปรแกรม Software ที่ใช้ในการคำนวณการตรวจวัดแผ่นดินไหว เพื่อให้มีการเตือนภัยได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ความร่วมมือในการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวระหว่าง กฟผ. กับกรมอุตุนิยมวิทยานั้น เป็นไปตามโครงการประสานข้อมูลเพื่อการเตือนภัยจากอุบัติภัยธรรมชาติ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวในระบบ Digital ซึ่งรวดเร็วทันสมัยกว่าระบบ Analog ของเดิม โดยติดตั้งเพิ่มเติมอีก 25 แห่ง ทั่วประเทศ ในส่วนของ กฟผ. นั้น เมื่อกรมอุตุฯ ทำการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดเสร็จสิ้น ทั้ง 2 ระยะ จะทำให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลร่วมกันได้ นอกเหนือจากอุปกรณ์ที่ กฟผ. ทำการติดตั้งเองอยู่ก่อนหน้านี้
นายแกว่น สีตะธนี ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา กล่าวภายหลังการประชุมร่วมว่า ข้อดีของโครงการเชื่อมเครือข่ายข้อมูลนี้ เมื่อทำการติดตั้งทั้งระบบแล้วเสร็จและพร้อมใช้งาน จะทำให้ กฟผ. มีโครงข่ายที่สามารถรับข้อมูลเพิ่มขึ้นและยังสามารถนำมาใช้ได้ทันทีเพราะเป็นข้อมูลที่มาจากผู้เชี่ยวชาญของประเทศโดยตรง อีกทั้งมีความรวดเร็วในการถ่ายทอดข้อมูลโดยดาวเทียม IPSTAR และแจ้งข้อมูลผ่านทาง Website ของกรมอุตุนิยมวิทยา นอกจากนี้อุปกรณ์ส่วนหนึ่งที่นำมาติดตั้งจะสามารถเตือนให้ทราบได้อย่างรวดเร็วว่ามีเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบกับโครงสร้างของกฟผ.โดยตรง หรือไม่ ซึ่งจะช่วยในการตรวจสอบบำรุงรักษาความมั่นคงของสิ่งก่อสร้างของ กฟผ.ได้ดียิ่งขึ้น เพราะจะทราบถึงอัตราเร่ง หรือแรงที่เกิดจากแผ่นดินไหวในส่วนต่างๆ ได้
สำหรับความร่วมมือในการดำเนินการโครงการระยะที่ 2 นั้น กฟผ. พร้อมประสานความร่วมมือในการหาตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดในพื้นที่ รวมไปถึงการดูแลความปลอดภัยของอุปกรณ์ตรวจวัดที่อยู่ในพื้นที่และการอำนวยความสะดวกอื่นๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ