กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--โรงพยาบาลกรุงเทพ
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันเบาหวานโลก” เพื่อให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกร่วมรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันตัว เพราะโรคนี้ถือเป็นมหันตภัยเงียบ คร่าชีวิตประชากรโลกปีละเป็นล้านคน โลกของเรามีคนป่วยเป็นโรคเบาหวานตายไปแล้วถึง 1.1 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 2 คน และมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 180 ล้านคน !! เราลองมาทำความรู้จักกับเจ้าโรคชื่อไพเราะ แต่น่ากลัวโรคนี้กันดีกว่าค่ะ...
เกี่ยวกับเบาหวาน..
โรคเบาหวานคือการที่ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นสูงกว่าปกติ, ในสภาพร่างกายที่สมบูรณ์นั้น ตับอ่อนจะผลิตฮอร์โมนที่เรียกว่าอินซูลินซึ่งมีหน้าที่ในการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นพลังงานสำหรับร่างกาย, ในกรณีที่เกิดโรคเบาหวาน กระบวนการเหล่านี้จะมีความผิดปกติอันเนื่องจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลิน (เบาหวานประเภท 1) หรืออินซูลินไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์เพราะปริมาณที่ถูกผลิตขึ้นมานั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการ หรือการที่เซลล์ร่างกายต่อต้านการทำงานของอินซูลิน(เบาหวานประเภท 2) ซึ่งจริงๆ แล้วโรคเบาหวานประเภท 2 เป็นชนิดที่เป็นกันมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นจำนวนถึง 90% ของจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด
โรคเบาหวานยังเป็นสาเหตุของการเพิ่มระดับไขมันในเลือด(คอเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์) โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวานยังรวมถึงการเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด, การหมุนเวียนของเลือดที่ไม่เพียงพอและทำให้เสี่ยงต่อการถูกตัดอวัยวะ, ลดการมองเห็นและเกิดอาการไตวาย
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน..
คุณมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นต่อการเป็นโรคเบาหวาน หาก
- คุณมีครอบครัวที่มีประวัติป่วยด้วยโรคเบาหวานประเภท 2
- คุณมีพัฒนาการของโรคเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ (เบาหวานจากการ ตั้งครรภ์)
- คุณมีภาวะน้ำหนักเกิน
- คุณออกกำลังกายน้อยมากและปกติเป็นคนไม่กระฉับกระเฉง
- คุณเป็นผู้สูงวัย (1 ใน 5 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเป็นเบาหวานประเภท 2)
สัญญาณของโรคเบาหวาน..
โดยปกติแล้วโรคเบาหวานประเภท 2 จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆและคนส่วนมากมักไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้จนกระทั่งเกิดอาการของโรคแทรกซ้อนต่างๆ ลักษณะอาการของโรคเบาหวานประเภท 2 ส่วนมากที่รู้กัน คือ อาการกระหายน้ำอย่างมาก, ปัสสาวะบ่อย, หิวบ่อย, น้ำหนักตัวลดลงโดยที่ไม่ได้ต้องการ, ไม่มีเรี่ยวแรง, เห็นภาพไม่ชัด, บาดแผลหรือรอยถลอกต่างๆ หายช้าลง, เกิดอาการชาหรือหมดความรู้สึกตามมือหรือเท้า, มีการติดเชื้อเรื้อรังตามบริเวณผิวหนัง, เหงือก, ช่องคลอด หรือ ทางเดินปัสสาวะ
เราสามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานของเราได้..
ลดน้ำหนักส่วนเกิน มากกว่า 8 ใน 10 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 2 มักมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน การลดน้ำหนักตัวที่เกินลงประมาณ 7-10% ของน้ำหนักปัจจุบันสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ครึ่งหนึ่ง
คู่มือป้องกันโรคเบาหวาน ของสหพันธ์เบาหวานโลกระบุไว้ว่า การมีไขมันบริเวณรอบเอว (ท้องน้อย) อยู่เป็นจำนวนมากนั้น อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน ตรวจสอบความเสี่ยงของคุณโดยการวัดขนาดรอบเอวด้วยการใช้สายวัด วางสายวัดให้อยู่กึ่งกลางระหว่างขอบล่างของกระดูกซี่โครงซี่ล่างสุดและกระดูกสะโพกส่วนบน เส้นรอบเอวของผู้ชายควรมีขนาดน้อยกว่า 90 ซม. หรือของผู้หญิงควรน้อยกว่า 80 ซม. จึงจะถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานต่ำ
เคลื่อนไหวร่างกายสักนิด..
การเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอสามารถลดโอกาสการเกิดโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ครึ่งหนึ่งทีเดียว นั่นเป็นเพราะว่าการให้กล้ามเนื้อได้เคลื่อนไหวจะช่วยเพิ่มความสามารถของกล้ามเนื้อในการดูดซึมกลูโคสและใช้อินซูลิน เลือกลักษณะการออกกำลังกายที่ผสมผสานกันระหว่างการออกกำลังกายแบบแอโรบิค, การฝึกความแข็ง แรงของกล้ามเนื้อ, และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ
1) การออกกำลังกายแบบแอโรบิค - แนะนำให้ทำอย่างน้อย 5 ครั้งต่ออาทิตย์ ประมาณ 30 นาทีต่อวัน หากคุณต้องการลดน้ำหนัก ให้เพิ่มระยะเวลาการออกกำลังซึ่งเป็นประโยชน์กับร่างกายของคุณด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม AFIC แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเพิ่มระดับและระยะเวลาการออกกำลังกาย
2) การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ-การสร้างกล้ามเนื้อหมายถึงการที่ร่างกายสามารถเผาผลาญแคลอรี่ได้มากกว่าและปรับปรุงความสามารถของร่างกายเองเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด การยกน้ำหนักเป็นตัวอย่างการออกกำลังกายเพื่อฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
3) การออกกำลังเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เช่น การยืดเหยียดช่วยให้ข้อต่อมีความยืดหยุ่นและลดความเสี่ยงจากการได้รับบาดเจ็บระหว่างการออกกำลัง
การเพิ่มกิจกรรมทางด้านร่างกายไม่ได้หมายถึงการต้องเข้าสถานที่ออกกำลังกาย การเปลี่ยนแปลงลักษณะการดำเนินชีวิตประจำวันเพียงเล็กน้อยก็เป็นการออกกำลังกายได้อีกทางหนึ่ง เช่น เดินไปทำงาน การทำสวน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของเด็กๆ ที่ต้องใช้ความคล่องแคล่วว่องไวของร่างกาย รวมถึง การใช้บันไดแทนการใช้ลิฟท์ เท่านี้ร่างกายเราก็ได้ออกกำลังกายทั้งยังช่วยรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วยนะคะ
ข้อมูลจาก
ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อกรุงเทพ
โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719