รมว.สาธารณสุขปลื้ม ดัน ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติผ่าน กมธ.แล้ว

ข่าวทั่วไป Monday December 18, 2006 13:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--สาธารณสุข
นางรัตนา สมบูรณ์วิทย์ รองโฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ....กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.....ซึ่งมี น.พ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ... ในสัปดาห์นี้ได้ทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้วผ่านการพิจารณาหมดทั้งฉบับไปแล้วทั้ง 3 รอบ โดยในรอบแรกพิจารณารายมาตรา รอบที่สองเป็นการพิจารณาคำแปรญัตติของสมาชิกสภานิติบัญญัติ รวมทั้งมาตราที่แขวนมาจากการพิจารณารอบแรก และพิจารณาภาพรวมทั้งหมด กรรมาธิการทุกคนทำงานกันอย่างหนัก เพื่อผลักดัน ให้กฎหมายออกมาเร็วและดีที่สุด เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ดีสำหรับประชาชนและสังคมไทย แต่กลับถูกดึงให้ช้ามาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมาธิการชุดนี้ บอกกับที่ประชุมว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายด้านสุขภาพฉบับแรกของไทย ที่ดูแลสุขภาพคนไทยอย่างเป็นองค์รวม และเป็นสุขภาพที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งทางกาย ใจ สังคม และทางปัญญา (ความดีงาม และความถูกต้อง) และมีสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในกฎหมายใดๆ ในสังคมไทย ที่กำหนดให้บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิขอให้มีการประเมินและสามารถร่วมกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ และมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงจากหน่วยงานของรัฐก่อนที่จะลงมือดำเนินโครงการใดๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตน ของชุมชนได้
ด้านพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ในกฎหมายฉบับนี้มีนวัตกรรมใหม่ที่สร้างสุขภาวะให้กับคนไทยและสังคมไทยรวมทั้งให้สิทธิกับประชาชนด้านสุขภาพอย่างมาก อาทิ ประชาชนมีสิทธิที่จะทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนได้ ให้สิทธิด้านสุขภาพกับผู้หญิง เด็ก คนพิการ คนสูงอายุ คนด้อยโอกาสในสังคม และกลุ่มคนต่างๆ ที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพ จะต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอันสำคัญของกลุ่มคนเหล่านี้ที่พึงจะได้รับการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ
ส่วนนายวิเชียร คุตตวัส กรรมาธิการฯ กล่าวว่า กฎหมายนี้ได้สร้างเครื่องมืออันสำคัญและเป็นรูปธรรมที่สุดของการมีส่วนร่วมของประชาชน เรามักจะพูดกันเสมอถึงการมีส่วนร่วมของสังคมแต่ยังไม่มีการสร้างเครื่องมือขึ้นมา กฎหมายฉบับนี้ได้ออกแบบให้ประชาชนสามารถรวมตัวกันจัดสมัชชาสุขภาพขึ้นมาเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพขึ้นได้ ซึ่งกลไกสมัชชาสุขภาพนี้ช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยของไทยให้เข้มแข็งขึ้น
และ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายฉบับนี้มีผู้คนรอกันอยู่มาก เพราะร่วมกันยกร่างมานานกว่า 6 ปี และถูกดองมานานทำให้ออกได้ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และคณะกรรมาธิการชุดนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติในวาระ 2 และ 3 ได้ทันภายในเดือนนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ