ยูเอ็น เผย ปอดบวมคร่าชีวิตเด็กเอเชีย 98 คนต่อชั่วโมง กว่าครึ่งเป็นปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส 2 พ.ย. “รวมพลังเด็กไทย ไร้ปอดบวม” รณรงค์วันปอดบวมโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday November 10, 2009 09:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ องค์การสหประชาชาติ (UN) เผยยอดเสียชีวิตเด็กเอเชียจากโรคปอดบวมสูงถึง 98 คนต่อชั่วโมง กว่าครึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส แนะฉีดวัคซีนไอพีดีป้องกันได้ ระบุเป็นมฤตยูร้ายใกล้ตัวเด็กเล็กที่ทุกคนต้องระวัง เพราะเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลก ด้านกองกุมารเวชกรรม รพ.พระมงกุฎเกล้า ร่วมกับ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า จัดกิจกรรมรณรงค์ “รวมพลังเด็กไทย ไร้ปอดบวม” เนื่องในวันปอดบวมโลก (World Pneumonia Day) ในปัจจุบันนอกเหนือจากการระบาดของโรคไข้หวัดที่มีความรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตแล้ว เด็กเล็กยังต้องระวังการติดเชื้อซ้ำเติมจากไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงซึ่งเป็นเชื้อที่สำคัญแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัด ก่อให้เกิดปอดบวม และปอดอักเสบรุนแรง รศ.พลตรีหญิง พญ.ฤดีวิไล สามโกเศศ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ รพ.พระมงกุฎเกล้า เปิดเผยว่า จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุว่าในปัจจุบันสถิติเด็กเล็กในทวีปเอเชียแปซิฟิกที่เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวมมีสูงถึง 98 คนต่อชั่วโมง โดย 49 คน (กว่าร้อยละ 50) มีสาเหตุการตายจากโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงที่ปอด ทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว นอกจากนี้เชื้อดังกล่าวยังเป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคติดเชื้อรุนแรงต่างๆ เช่น โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อีกด้วย ดังนั้นโรคปอดบวมนับเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนให้ทุกประเทศเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในเด็กเล็ก ซึ่งทุกๆ 15 วินาทีจะมีเด็กทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม 1 คน หรือนับเป็นจำนวนเด็กที่เสียชีวิตสูงถึง 2 ล้านคนต่อปี ดังนั้นองค์กรพันธมิตรวันปอดบวมโลก (World Pneumonia Coalition) ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันขององค์กรสุขภาพทั่วโลกกว่า 50 องค์กรจากทุกภูมิภาค จึงได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรม “วันปอดบวมโลก” (World Pneumonia Day) ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 และกำหนดให้วันที่ 2 พฤศจิกายนของทุกๆ ปีเป็นวันปอดบวมโลก โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลักดันให้โรคปอดบวมเป็นประเด็นสุขภาพที่ทั่วโลกควรให้ความสำคัญ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการเร่งลดอุบัติการณ์การเสียชีวิตของเด็กเล็กจากโรคปอดบวมที่เกิดขึ้นทุกๆ ปีอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อร่วมกิจกรรมในวันปอดบวมโลกครั้งแรกในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ร่วมกับ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ “รวมพลังเด็กไทย ไร้ปอดบวม” ขึ้น เพื่อร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงรณรงค์เพื่อลดอุบัติการณ์เสียชีวิตของเด็กเล็กจากโรคปอดบวม โดยภายในงานจะมีการสาธิตวิธีการสังเกตการหายใจในกรณีที่สงสัยว่าเด็กเป็นปอดบวม นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเรื่อง “ปอดบวม...มฤตยูร้ายของเด็กเล็ก” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน สังเกตอาการเริ่มต้น และวิธีการดูแลรักษาโรคปอดบวมในเด็ก บอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องปอดบวม และกิจกรรมรวมพลังเด็กไทยไร้ปอดบวม จากบรรดาเด็กๆ และพ่อแม่ผู้ปกครองมาช่วยกันผนึกกำลังลงนาม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการต่อต้านโรคปอดบวม โดยมี รศ.พลตรีหญิง พญ.ฤดีวิไล สามโกเศศ รพ.พระมงกุฎเกล้า เป็นประธานเปิดงาน ณ บริเวณลานกิจกรรม ชั้น L อาคารพัชรกิติยาภา รศ.พ.อ.หญิง ชลิดา เลาหพันธ์ ผู้อำนวยการกองกุมารเวชกรรม รพ.พระมงกุฎเกล้า เปิดเผยว่า ปอดบวม เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่ระบาดในช่วงหน้าหนาว เกิดจากการอักเสบและติดเชื้อของเนื้อปอด รวมทั้งหลอดลม และถุงลม เมื่อมีการอักเสบของปอดจึงทำให้ความสามารถในการทำงานของอวัยวะเหล่านี้ลดลง ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจรุนแรงจนเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน หรือมีการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีโอกาสเสียชีวิตได้ โรคปอดบวมเกิดได้จากเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียร่วมกัน แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือเชื้อไวรัส ซึ่งยังไม่มียาต้านไวรัส โรคจะหายได้จากการที่ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานมากำจัดเชื้อไวรัสได้เอง ส่วนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนั้น พบว่าโรคปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัสพบมากที่สุด เพราะเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาจพบอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก ลำคอของคนเรา เมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือเยื่อบุดังกล่าวโดนทำลาย เชื้อนิวโมคอคคัสก็จะหลุดเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้อาจติดเชื้อได้จากการสัมผัสละอองของน้ำมูก น้ำลายของผู้ที่มีเชื้อ ซึ่งก่อทำให้เกิดโรคในระบบต่างๆ ที่สำคัญของร่างกาย เช่น โรคปอดอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคหูชั้นกลางอักเสบ (หูน้ำหนวก) หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ สมอง และกระแสเลือด เป็นต้น ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น อาการของโรคปอดบวมในเด็ก เช่น มีไข้ ไอ หายใจถี่และหอบ หายใจลำบากหรือมีเสียงดังวี๊ดๆ หรือหายใจแรงจนซี่โครงบุ๋ม ถ้าพบว่าเด็กมีอาการ ไข้ ไอบ่อย หรือหายใจเร็ว (ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ หายใจเร็วมากกว่า 50 ครั้งต่อนาที และในเด็กเล็กที่มากกว่า 1 ขวบ หายใจเร็วมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที) ให้สงสัยว่า เด็กอาจเป็นโรคปอดอักเสบ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจยืนยันและการรักษาที่ถูกต้อง หากพ่อแม่นิ่งนอนใจ ปล่อยทิ้งไว้นานเด็กอาจมีอาการหอบ หายใจลำบาก มีอาการรุนแรงมากขึ้นและอาจไม่ทันการ ซึ่งเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง ดังนั้น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยการเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรง ให้ทารกดื่มนมแม่ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และสอนให้เด็กรู้จักรักษาสุขอนามัยเป็นประจำ โดยเฉพาะการล้างมืออย่างถูกวิธีเป็นประจำจะช่วยลดการติดเชื้อที่สัมผัสติดมากับมือได้ รวมทั้งการใส่หน้ากากอนามัย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ชุมชนและสถานที่แออัดเป็นเวลานานๆ หรืออาจปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน ซึ่งสามารถป้องกันโรคปอดบวมรุนแรงได้ ผู้สนใจเกี่ยวกับโรคปอดบวม สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.worldpneumoniaday.org สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ บุษบา / พิธิมา โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133 / 138

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ