ก.ไอซีที ยืนยันเดินหน้าโครงการ 3จีของทีโอที เปิดให้บริการแน่ 3 ธ.ค.52

ข่าวทั่วไป Tuesday November 10, 2009 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--ก.ไอซีที ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แถลงยืนยันการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จีของบมจ.ทีโอที ว่า โครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี ของบมจ.ทีโอที จะเดินหน้าดำเนินการต่อไปอย่างแน่นอนไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยขณะนี้ได้มีความเข้าใจที่สับสนเกี่ยวกับโครงการเปิดให้บริการ 3จี ของบมจ.ทีโอทีผ่านคลื่นความถี่ 1900 เมกะเฮิร์ต กับการออกใบอนุญาตประกอบการโทรคมนาคมของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพื่อให้บริการ 3จี ที่ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับเงื่อนไขการประมูล และจะมีการจัดทำประชาพิจารณ์อีกครั้งในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งทำให้ประชาชนที่มีความสนใจในบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จีเกิดความสับสน จึงขอยืนยันว่า บมจ.ทีโอที จะเริ่มเปิดให้บริการ 3จี ระยะแรกในวันที่ 3 ธันวาคม 2552 นี้ ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 548 ฐาน โดยขณะนี้ได้มีการเปิดให้ทดลองใช้ในพื้นที่ต่างๆ ไปบ้างแล้ว ทั้งในงานคอมมาร์ท คอมเทค อาคาร 9 บมจ.ทีโอที เป็นต้น และจะทดลองเปิดให้บริการที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ ในเร็วๆ นี้ ส่วนการดำเนินการในเฟสต่อไปนั้นได้มีการจัดทำข้อกำหนดขอบเขตการดำเนินงาน หรือ ทีโออาร์ (TOR) แล้วเสร็จ และส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาในหลักการให้เป็นไปตามระเบียบการเปิดประมูล จากนั้นจะนำเข้าสู่เว็บไซต์เพื่อเปิดรับฟังประชาพิจารณ์ แล้วจึงนำกลับมาปรับปรุงแก้ไขและดำเนินการเปิดประมูลตามแผนธุรกิจที่ได้วางไว้ในเดือนเมษายน 2553 ซึ่งแผนธุรกิจของโครงการ 3จีนั้นได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว ส่วนการกู้เงินลงทุนนั้นจะต้องรอการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีก่อน สำหรับการนำเรื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจนั้น ได้มีการหารือในประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปิดประมูลใบอนุญาตฯ ของกทช. ที่มีต่อบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม หากมีการเปิดให้บริษัทต่างชาติและบริษัทเอกชนเข้าร่วมการประมูล ซึ่งคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยงและประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น “กระทรวงฯ ได้ร่วมกับบมจ.ทีโอที และบมจ.กสทฯ ทำการวิเคราะห์ใน 4 ด้าน คือ ด้านการแข่งขัน ด้านความมั่นคง ด้านสัญญาร่วมการงาน และด้านการเงิน โดยได้วิเคราะห์ทั้งในเรื่องความเสี่ยง ผลกระทบ และการจัดการความเสี่ยง ซึ่งในด้านการแข่งขันได้วิเคราะห์ว่า การแข่งขันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ทั้งสองบริษัทกลับขาดศักยภาพในแข่งขัน เนื่องจากในทางปฏิบัติจะต้องติดขัดกับระเบียบต่างๆ หลายเรื่องที่ทำให้การดำเนินการต่างๆ ล่าช้ากว่าบริษัทเอกชนหรือต่างชาติ นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายเดิมในสัญญาร่วมการงานก็จะเกิดแรงจูงใจที่จะลดต้นทุน และรุกตลาดโดยการถ่ายโอนลูกค้าออกไป ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้ส่วนแบ่งรายได้ของทั้งสองบริษัทลดลง และการส่งคืนรายได้ให้กับกระทรวงการคลังก็จะลดลงด้วย” ส่วนผลกระทบด้านความมั่นคงที่จะเกิดขึ้นหากบริษัทเอกชนหรือต่างชาติได้รับใบอนุญาตฯ คือ การขอความร่วมมือเพื่อควบคุมดูแลการสื่อสารโทรคมนาคมเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ หรือการจัดการความเสี่ยงด้านข้อมูลของประเทศทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ หรือสังคมอาจทำได้ยาก ขณะที่ผลกระทบด้านสัญญาร่วมการงานนั้น มีในกรณีที่ผู้ประกอบการรายเดิมของโครงข่ายเดิมจะสามารถนำทรัพย์สินของรัฐไปใช้งานได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีในกรณีการกำหนดเงื่อนไขในการประมูลหากมีการใช้ทรัพย์สินในโครงข่ายเดิมต้องมีการขออนุญาตและทำความตกลงกับเจ้าของทรัพย์สินให้ถูกต้องและชัดเจน เป็นต้น ซึ่งผลการวิเคราะห์ดังกล่าวนี้จะได้มีการเสนอให้คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาอีกครั้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ