กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--กฟผ.
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระดมสมองเรกูเลเตอร์ สนพ. กฟน. และ กฟภ. จัดทำมาตรฐานการจัดการระบบไฟฟ้ากำลัง อิงลดปัญหาโลกร้อน รวมพลังพัฒนาศักยภาพพลังงานไฟฟ้าเทียบเท่ามาตรฐานสากล
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดสัมมนาเรื่อง “การจัดทำมาตรฐานการจัดการระบบไฟฟ้ากำลัง (Performance Standard) ณ สำนักงานใหญ่ บางกรวย กฟผ. โดยมีผู้แทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulator) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ กฟผ. เข้าร่วมประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในความร่วมมือด้านพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน
นายพิบูลย์ บัวแช่ม ผู้ช่วยผู้ว่าการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. ในฐานะประธานการสัมมนาฯ กล่าวว่า สืบเนื่องจากโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคกลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Sub-region (GMS) ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน มีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างกัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากร และเกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบุคลากร
ความร่วมมือด้านพลังงานเป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือของกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งได้มีการลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างกัน และการสร้างเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศสมาชิกร่วมมือและวางแผนพัฒนาการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง ในราคาต่ำ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อน รวมถึงความเข้าใจการดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าในอนุภูมิภาค
นายพิบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศนั้น มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา เช่น ระบบสื่อสาร การประสานงานระหว่างศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าในการควบคุมการซื้อขาย และการคิดค่าผ่านระบบสื่อสาร แต่ในเบื้องต้น ก่อนที่จะสามารถเชื่อมโยงระบบเข้าด้วยกันได้นั้นจะต้องปรับมาตรฐานของแต่ละประเทศให้เท่าเทียมกันก่อน โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) ได้ดำเนินการให้ผู้เชี่ยวชาญจัดทำกรอบมาตรฐานการจัดการระบบไฟฟ้ากำลัง ของกลุ่มประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง และได้มอบหมายให้ประเทศไทยในฐานะประเทศซึ่งได้รับการคาดหวังให้เป็นศูนย์กลางของการรับส่งและแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า เป็นผู้จัดทำมาตรฐานของกลุ่มประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อนำมาพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกัน