กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอสรุปผลการดำเนินการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐประจำเดือนตุลาคม 2552 พร้อมทั้งรายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ดังนี้
1. การปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐ
1.1 เดือนตุลาคม 2552
หนี้ในประเทศ
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรรัฐบาล วงเงิน 23,000 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ โดยทำการ Roll Over หนี้ดิม วงเงินรวม 1,440 ล้านบาท
2. การกู้เงินภาครัฐ
เดือนตุลาคม 2552
กระทรวงการคลังได้เบิกเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน3,000 ล้านบาท
เดือนตุลาคม 2552
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระหนี้จากงบประมาณรวม 8,002 ล้านบาท โดยเป็นการชำระคืนเงินต้น 2,971 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 5,031 ล้านบาท
รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552
ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 มีจำนวน 4,001,942 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.55 ของ GDP เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,586,513 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,108,580 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 208,702 ล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 98,147 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะลดลง 16,236 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง ลดลง 22,849 ล้านบาท สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 2,647 ล้านบาท 2,839 ล้านบาท และ 1,127 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีหนี้คงค้าง
การลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญเกิดจากการลดลงของ หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง รายการที่สำคัญเกิดรัฐบาลได้ดำเนินการชำระคืนต้นพันธบัตรออมทรัพย์ที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF 3) ที่ครบกำหนด วงเงิน 54,246 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมาชำระคืนต้นเงินกู้บางส่วนสมทบกับเงินในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง (FIDF 1 และ FIDF 3) ที่นำมาทดรองจ่ายไปก่อน ส่วนที่เหลือกระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินระยะยาว จำนวน 23,162 ล้านบาท และกู้เงินระยะสั้น จำนวน 13,935 ล้านบาท จากนั้นจึงทยอยออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ วงเงินรวม 25,000 ล้านบาท ในเดือนกันยายน — เดือนตุลาคม 2552 เพื่อทยอยชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นและเงินจากบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลังดังกล่าว ซึ่งในเดือนกันยายน 2552 ได้ดำเนินการประมูลพันธบัตรดังกล่าวแล้ว จำนวน 8,000 ล้านบาท และนำเงินที่ได้จากการประมูลไปชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้น นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดในเดือนมิถุนายน 2552 วงเงิน 37,740 ล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรไปชำระคืนต้นเงินกู้ระยะสั้นที่ใช้เป็น Bridge Financing ในการปรับโครงสร้างหนี้
สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 2,647 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันในส่วนของหนี้ในประเทศ รายการที่สำคัญเกิดจากการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ออกพันธบัตร จำนวน 6,955 ล้านบาท และไถ่ถอนพันธบัตร จำนวน 3,200 ล้านบาท
สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 2,839 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจาก การเพิ่มขึ้นของหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน รายการที่สำคัญเกิดจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ออกพันธบัตร จำนวน 3,000 ล้านบาท
สำหรับหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 1,127 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการตั้งดอกเบี้ยค้างจ่ายพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ หนี้สาธารณะ 4,001,942 ล้านบาท แยกออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 384,377 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.60 และ หนี้ในประเทศ 3,617,565 ล้านบาท หรือร้อยละ 90.40 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,600,958 ล้านบาท หรือร้อยละ 89.98 และหนี้ระยะสั้น 400,984 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.02 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ส่วนประสานสัมพันธ์นักลงทุน สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 0 2265 8050 ต่อ 5510