กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--สวทช.
ผู้เชี่ยวชาญ iTAP แนะเทคนิค “โรงสีไทยอุดร” ปรับปรุงระบบจัดการโรงสี ย้ำให้ความรู้บุคลากร เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีไทยช่วยเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 400 ตันต่อวัน ทำให้ได้ข้าวหอมมะลิเกรดเอ ส่งออกทั่วโลก ชี้การทำงานร่วมกับ iTAP ยังทำให้แข่งขันในตลาดด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเจ้าอื่น พร้อมต่อยอดพัฒนาโรงสีไม่หยุดนิ่ง
ไทย ถือเป็นประเทศยุ้งฉางของโลกเนื่องจากมีผลผลิตข้าวส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง ผลผลิตข้าวที่ส่งออกไปเลี้ยงคนทั่วโลกจึงจำเป็นต้องมีมาตรฐาน ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องคำนึงถึงความสำคัญของกระบวนการผลิตข้าวเพื่อให้ได้คุณภาพ ซึ่งย่อมหมายถึงจะสามารถจำหน่ายในราคาที่เพิ่มขึ้นด้วย อย่าง บริษัท โรงสีข้าวไทยอุดร จำกัด ผู้ส่งออกข้าวไปต่างประเทศ 100 % เกือบทั่วโลกภายใต้แบรนด์ตนเองและอื่นๆ โรงสีข้าวของที่นี่จึงมีผลผลิตคุณภาพสูง
จากอดีต “โรงสีไทยอุดร” ยังคงประสบกับปัญหาเรื่องกระบวนการผลิต เนื่องจากการผลิตอัตราข้าวเต็มเมล็ดที่ได้จากกระบวนการสีนั้นมีเปอร์เซ็นต่ำ ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลผลิตเต็มที่ โรงสีไทยอุดรจึงเล็งเห็นความสำคัญของการปรับปรุงเทคโนโลยี การเพิ่มความรู้ให้บุคลากรเพื่อนำเทคโนโลยีมาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ลดความเสียหายของวัตถุดิบและทำให้ได้ผลผลิตข้าวคุณภาพ
นายทวีลาภ ธีระธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโรงสีข้าวไทยอุดร จำกัด กล่าวว่า โรงสีข้าวไทยอุดร มีกำลังการผลิตวันละ 250 ตันข้าวเปลือกต่อวัน โดยมีสัดส่วนแปรรูปข้าวหอมมะลิ 100 % ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณภาพสูง โดยปกติจะทำการส่งออกต่างประเทศ โรงสีข้าวจึงดำเนินกระบวนการแปรรูปข้าว โดยใช้เทคโนโลยีจากเครื่องจักรที่ผู้ผลิตต่างกัน
“ เดิมนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ เช่น เครื่องกะเทาะข้าวเปลือก เครื่องสีข้าว เครื่องขัดข้าวขาว ฯลฯ แต่ปรากฏว่าเมื่อนำเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้โดยขาดระบบการดูแล การซ่อมบำรุง และความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทำงานต่างๆที่ถูกต้อง จึงทำให้ข้าวที่ได้หักและมีสีเหลือง ผลผลิตข้าวที่ได้จึงราคาตก”
จากปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต คือ กระบวนการสีข้าวไม่มีประสิทธิภาพที่เพียงพอ ทำให้สีข้าวได้ข้าวเต็มเมล็ดเพียง 40 % ของข้าวเปลือก (ขณะที่ค่าเฉลี่ยที่สามารถแข่งขันได้คือข้าวเต็มเมล็ดต้องได้ 42 % ของข้าวเปลือก) และความขาวไม่สม่ำเสมอที่ 42%
นายทวีลาภ กล่าวว่า บริษัทฯเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับปรุงกระบวนการผลิตและถ่ายทอดเทคนิค ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญจากโครงการ iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย) โดยมี นาย ฉัฐวุฒิ แก่นพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญ iTAP จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็นที่ปรึกษาใน โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงสีข้าว โดยได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรในกระบวนการสีข้าวเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่โรงสีมีปริมาณข้าวต้น(ข้าวเต็มเมล็ด)เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1% และกำลังการผลิตสูงขึ้น 10%
“หลังจากนั้นโรงสีจึงหันมาใช้เครื่องจักรที่ผลิตภายในประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในโครงการ iTAP เข้ามาช่วย แนะนำวางระบบการทำงานใหม่ทั้งหมด ทำให้ลูกน้องเข้าใจกระบวนการทำงานของเครื่องจักร เหมือนมีอาจารย์มาสอนเรียนหนังสือในห้องเรียน สอนการทำงานให้เป็นระบบ เดี๋ยวนี้ลูกน้องสามารถทำงานได้สะดวก เหนื่อยน้อยลง เพราะรู้จักใช้เครื่องมือ รู้ว่าต้องทำงานอย่างไรและมีทักษะในการทำงาน จากกำลังผลิตที่เคยทำได้คือประมาณ 250 ตันต่อวัน หลังจากเข้าโครงการก็เพิ่มขึ้นเป็น 400 ตันต่อวัน ดังนั้นการเข้าร่วมในโครงการ iTAP เพียงระยะเวลาประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา จึงถือว่าคุ้มค่ามาก”
กรรมการผู้จัดการ บริษัทโรงสีข้าวไทยอุดร จำกัด กล่าวอีกว่า “ขณะนี้โรงสีมีเครื่องกะเทาะข้าวเปลือก 8 เครื่อง เครื่องขัดข้าวขาว 12 เครื่อง โดยโรงสีรับได้ 400 ตันต่อวันและข้าวที่สีเป็นข้าวหอมมะลิอย่างเดียวซึ่งสียากที่สุด โดยขายในแบรนด์นางฟ้าและอื่นๆและส่งให้กับผู้ส่งออกข้าวเนื่องจากเราไม่เก่งส่งออก จึงเลือกที่จะทำงานถนัด คือการผลิตและส่งต่อ ซึ่งผลที่ได้รับเมื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตใหม่ ยังทำให้ได้ข้าวเป็นเปอร์เซ็นต์ระดับหัวแถว ผลผลิตข้าวได้เกรดเอ”
ด้านการทำงานของโรงสีไทยอุดร เมื่อได้รับความรู้ เทคนิคในการทำงานที่ถูกต้อง ยังทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าในโรงสีลงได้ เช่น เดิมนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศและใช้มอเตอร์ขนาดใหญ่ในโรงสีข้าวหมุนทั้งโรงงาน แต่เมื่อปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรภายในประเทศโดยใช้ระบบเป็นมอเตอร์ขนาดเล็กแยกกัน ทำให้ไม่ต้องเปิดเครื่องจักรทำงานพร้อมกัน ผลที่ได้รับคือ สามารถลดค่าไฟลงไปได้ จากเดิมต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 4 แสนบาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันค่าไฟฟ้าลดลงเหลือประมาณ 2 แสนบาทต่อเดือนเลยทีเดียว
นายทวีลาภ เล่าอีกว่า การทำงานของโรงสีไทยอุดรนั้น จะเน้นทำงานหลัง 4 ทุ่ม เนื่องจากค่าไฟฟ้าจะมีราคาถูกกว่ากลางวัน เวลากลางวันจึงเป็นเวลาที่คนงานทำงานซ่อมบำรุงเป็นหลัก แต่ก็มีการสลับผลัดเปลี่ยนกันเพื่อสุขภาพของคนงาน ทำให้ได้หยุดพักในเวลากลางคืนด้วย
สำหรับการทำงานร่วมกับโครงการ iTAP ยังทำให้ปัญหาสำคัญ คือ การขาดความรู้ของบุคลากรในโรงสี มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น เกิดการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้เหมาะสม ทำให้ประสิทธิภาพและรายได้เพิ่มขึ้นด้วย โดยหากจำหน่ายข้าวราคาเท่ากันในตลาด แต่ต้นทุนของโรงสีไทยอุดรจะต่ำกว่า เนื่องจากการเข้าร่วมกับ iTAP ดังนั้นจึงอยากพัฒนาการทำงานในโครงการอื่นๆอย่างต่อเนื่อง อาทิ ระบบลม โดยผู้เชี่ยวชาญ iTAP แนะนำว่าหากมีปัญหาจะทำให้ผลผลิตข้าวไม่สะอาด หรือปรับปรุงโรงอบข้าว เพื่อลดความชื้นเนื่องจากหากมีความชื้นมากจะทำให้ขณะสีข้าวจะหัก
“อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจาก iTAP แนะนำว่า การทำงานโรงสีไม่หยุดนิ่ง ดังนั้นในปีหน้า โรงสีไทยอุดรยังวางแผนการทำงานเรื่องการพัฒนาระบบลม โรงอบ และโกดัง อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพัฒนาระบบการจัดการเหล่านี้ดีขึ้น แม้จะทำให้ได้ข้าวต้นเพิ่มขึ้นเพียง 1% ก็ต้องทำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ” กรรมการผู้จัดการ บริษัทโรงสีข้าวไทยอุดร จำกัด กล่าวในที่สุด
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP (สวทช.)
โทร.02-270-1350-4 ต่อ 114,115