ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนตุลาคม 2552

ข่าวทั่วไป Wednesday November 11, 2009 11:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยในเดือนตุลาคม 2552 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.11 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้ากว่า 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.2 ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจได้ส่งผลให้การนำเข้าและการบริโภคภายในประเทศเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเมื่อเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมหลักสูงกว่าเป้าหมายในอัตราที่สูง ในเดือนตุลาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 111,052 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 15,484 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.2 สาเหตุสำคัญที่ทำให้การจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ คือ การนำเข้าและการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ การนำเข้าที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการนำเข้าสูงกว่าประมาณการถึงร้อยละ 23.2 สอดคล้องกับผลการจัดเก็บอากรขาเข้าที่สูงกว่าประมาณการร้อยละ 21.1 นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์สูงกว่าประมาณการ ร้อยละ 58.2 และภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคสูงกว่าประมาณการร้อยละ 7.2 สำหรับรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,456 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 เป็นผลจากการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนที่ส่งผลให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงขอทยอยนำส่งรายได้เป็นงวด ทำให้รายได้ในเดือนนี้ต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 2,663 ล้านบาท และ 638 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ขอเลื่อนการจ่ายเงินปันผล จำนวน 1,105 ล้านบาท จากเดิมในเดือนตุลาคม 2552 เป็นเดือนพฤศจิกายน 2552 ด้วย อย่างไรก็ดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสินนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 1,290 และ 708 ล้านบาท ตามลำดับ นายสาธิตฯ สรุปว่า “ผลการจัดเก็บรายได้เดือนนี้ได้ส่งสัญญาณให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยได้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้มั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายอย่างแน่นอน” ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนตุลาคม 2552 เดือนตุลาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 111,052 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 15,484 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.2 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.5) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษีที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าและการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง และการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ 1. กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 72,217 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6,980 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.7 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.4) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 39,401 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการฯ 4,681 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.5 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.0) สาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่สูงกว่าประมาณการฯ ถึง 3,164 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.2 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 เป็นต้นมา แต่ยังจัดเก็บได้ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 18.4 นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศยังสูงกว่าประมาณการฯ 1,517 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.2 และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.8 นอกจากนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,535 และ 773 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.6 และ 5.5 ตามลำดับ 2. กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 31,333 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 7,890 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 66.8) โดยมีสาเหตุสำคัญจาก - ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ 12,351 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการฯ 3,579 ล้านบาท หรือร้อยละ 40.8 เนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับปีที่แล้วจะสูงกว่าเดือน เดียวกันปีที่แล้วถึงร้อยละ 567.3 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วได้รับผลกระทบจากการลดอัตราภาษีน้ำมัน ดีเซลและแก๊สโซฮอล์ เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนตาม 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคนด้วย - ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้ 5,772 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการฯ 2,123 ล้านบาท หรือร้อยละ 58.2 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.0) ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้มีทิศทางที่ดีขึ้นมาเป็นลำดับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 เป็นต้นมา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง - ภาษีเบียร์และสุราจัดเก็บได้ 4,450 และ 3,105 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการฯ ร้อยละ 22.1 และ 22.6 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการได้ผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยสต็อกที่ลดลง และเพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่และฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (high season) 3. กรมศุลกากรจัดเก็บได้รวม 7,813 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,358ล้านบาท หรือร้อยละ 21.0 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 10.2) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการฯ 1,318 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.1 เป็นผลจากการนำเข้าที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นมา อย่างไรก็ดี อากรขาออกจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการและเดือนเดียวกันปีที่แล้วสูง เนื่องจากได้มีการยกเว้นการจัดเก็บอากร ขาออกหนังดิบโคและกระบือ และไม้แปรรูปที่ได้จากต้นยางตระกูลฮีเวีย ส่งผลให้รายได้จากอากรขาออกจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด 4. รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ 13,922 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,456 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงได้รับผลกระทบจากการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ทำให้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง จึงขอทยอยนำส่งรายได้เป็นงวด นอกจากนี้ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ขอเลื่อนการจ่ายเงินปันผล จำนวน 1,105 ล้านบาท จากเดิมในเดือนตุลาคม 2552 เป็นเดือนพฤศจิกายน 2552 ด้วย อย่างไรก็ดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสินนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 1,290 และ 708 ล้านบาท ตามลำดับ และธนาคารอาคารสงเคราะห์นำส่งรายได้จำนวน 836 ล้านบาท ซึ่งเร็วกว่าประมาณการที่คาดว่าจะนำส่งในเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นจำนวน 698 ล้านบาท 5. หน่วยงานอื่นจัดเก็บรายได้รวม 4,073 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 973 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.4 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3545

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ