บริษัท โนวาร์ตีส ประเทศไทย โดยโครงการอัลไซเมอร์คลับ และโครงการอัลไซเมอร์แคร์ จัดงานสัมมนาวิชาการ “รู้จักโรค และการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์”

ข่าวทั่วไป Wednesday June 14, 2006 11:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--คอร์ แอนด์ พีค
บริษัท โนวาร์ตีส ประเทศไทย โดยโครงการอัลไซเมอร์คลับ และโครงการอัลไซเมอร์แคร์ จัดงานสัมมนาวิชาการ “รู้จักโรค และการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์” โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด โดยโครงการอัลไซเมอร์คลับ และโครงการอัลไซเมอร์แคร์ เตรียมจัดงานสัมมนาวิชาการภายใต้หัวข้อ “รู้จักโรค และการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน หน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และ นายแพทย์สมศักดิ์ ลัพธิกุลธรรม อายุรแพทย์ สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี ในวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2549 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ สยามสแควร์ เวลา 13.00-16.00 น.
แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมประเทศไทยกล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากการตายของเซลล์ประสาท โดยไม่มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน ทำให้การทำงานของสมองค่อย ๆ เสื่อมลง ซึ่งจากตัวเลขงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่า พบผู้ป่วยสมองเสื่อม 1% ในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทุก ๆ 5 ปี คือเพิ่มขึ้นเป็น 2%, 4%, 8% ในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 65, 70, 75 ปี ตามลำดับ
ภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากการขาดสารอาหาร การติดเชื้อในสมอง ปัญหาโรคหลอดเลือดสมอง การแปรปรวนของระบบเมตาบอลิก การได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง แต่สาเหตุที่พบมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ โรคอัลไซเมอร์ พบได้ถึงร้อยละ 50-60 โรคนี้เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด อาการของโรคจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเซลล์ประสาทส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ ความคิดจะเสื่อมลงหรือตายไปก่อน
สำหรับอาการทั่วไปที่พบในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จะมีความบกพร่องในด้านต่าง ๆ 3 ด้านได้แก่ ความบกพร่องด้านความจำ ความคิด และการใช้เหตุผล เช่น หลงลืมสิ่งของที่ใช้ประจำ นึกคำหรือประโยคที่จะพูดไม่ออก สับสนเรื่องวันเวลาและสถานที่ จำบุคคลที่เคยรู้จักหรือคุ้นเคยไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม เช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว หวาดระแวง ซึมเศร้า บางรายอาจมีการหลงผิดหรือเห็นภาพหลอน ส่วนความบกพร่องในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านได้อย่างเหมาะสม ไม่สามารถเดินทางไปยังสถานที่ที่คุ้นเคย หรือไม่สามารถทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกได้เหมือนเดิม
แพทย์หญิงสิรินทร กล่าวว่า การวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ โดยดูจากประวัติการลืมและความผิดปกติอื่น ๆ ตามที่กล่าวมา ในผู้ป่วยระยะปานกลางถึงรุนแรง มีอาการเป็นมากชัดเจนก็อาจจะให้การวินิจฉัยได้ไม่ยาก แต่ถ้าเป็นระยะแรกเริ่มอาจต้องติดตามดูอาการผู้ป่วยไปสักระยะหนึ่งก่อน ร่วมกับการตรวจเอ็กซเรย์พิเศษที่ดูการใช้ออกซิเจนและการใช้พลังงานของสมอง ซึ่งหากตรวจพบว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถให้ยาช่วยเพื่อช่วยชะลอการสูญเสียความจำของผู้ป่วยให้ช้าลง ให้สามารถดูแลตนเองและทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้นานขึ้น
สำหรับการจัดงานสัมมนาวิชาการ “รู้จักโรคและการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์” มีวัตถุประสงค์ให้ข้อมูลเรื่องโรคอัลไซเมอร์ การวินิจฉัย ปัจจัยเสี่ยงและแนวทางการป้องกัน ในวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2549 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ สยามสแควร์ เวลา 13.00-16.00 น. โดยผู้ลงทะเบียน 50 ท่านแรก รับบริการตรวจวัดความดันโลหิต และตรวจสมรรถภาพสมองฟรีในงาน ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่งได้ตั้งแต่บัดนี้ โทร.0-2539-8351 ,0-2539-8381 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณปาริชาติ สุวรรณ์
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด
โทร.0-2439-4600 ต่อ 8203
มือถือ 0-1668-9239
อีเมล์: paricharts@corepeak.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ