สรุปภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ เดือนตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 12, 2009 09:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--ตลท. ภาวะตลาดหลักทรัพย์ของไทยในเดือนตุลาคม 2552 ได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและข่าวเชิงลบในประเทศ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ความสนใจในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยนักลงทุนต่างประเทศยังคงมีสถานะซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันปรับตัวสูงขึ้นและทำสถิติสูงสุดในรอบ 27 เดือน อีกทั้งจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายและมูลค่าการซื้อขายต่อบัญชียังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับภาวะการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันเพิ่มขึ้นในตราสารทุกประเภท โดยเฉพาะ Gold Futures ซึ่งมีปริมาณการซื้อขายรายวันทำสถิติสูงสุด (New high) เป็นเดือนที่ 2 นับตั้งแต่เริ่มทำการซื้อขาย ตามความสนใจของนักลงทุนจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 3/2552 ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วและไตรมาสก่อนหน้า โดยกำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีแนวโน้มลดลง สำหรับการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่จะมีขึ้นในแบบขั้นบันไดในปี 2553 และแบบเต็มรูปแบบในปี 2555 นั้น สภาพแวดล้อมและโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ของไทยในปัจจุบัน จะช่วยให้ธุรกิจหลักทรัพย์มีความพร้อมในการปรับตัวได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับการเปิดเสรีเมื่อปี 2543 เนื่องจากกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์โดยรวม มีฐานะทางการเงินที่แข็งแรง ภายใต้ภาวการณ์ซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในด้านมูลค่าและบัญชีที่มีการซื้อขาย รวมทั้งแหล่งรายได้ที่หลากหลายและมีการกระจายตัวมากขึ้น จากการบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักลงทุนในทุกสภาวะตลาด 1. ภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ไทยเทียบกับต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยและประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่ปรับลดลง จากความกังวลของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เมื่อประกอบกับข่าวเชิงลบภายในประเทศส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) ปรับลดลงร้อยละ 4.44 จากสิ้นเดือนกันยายน 2552 ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) ที่ปรับลดลงได้ส่งผลให้อัตราส่วนราคาตลาดหลักทรัพย์ต่อกำไรสุทธิคาดการณ์ (Forward P/E ratio) ของไทย ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2552 ปรับลดลงเป็น 11.9 เท่า โดยยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน (Market dividend yield) ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 3.68 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในกลุ่มประเทศในภูมิภาค 2. สรุปภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ในเดือนตุลาคม 2552 ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับผลกระทบจากข่าวเชิงลบในช่วงวันที่ 14 — 15 ตุลาคม ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ปรับลดลงต่ำสุดของเดือนที่ 670.72 จุดในวันที่ 15 ตุลาคม ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นภายหลังการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือน ดัชนีฯ ได้ปรับตัวลงอีกครั้งตามการปรับตัวลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 ดัชนีฯ ปิดที่ 685.24 จุด ลดลงร้อยละ 4.44 จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ mai ปรับตัวสูงขึ้นปิดที่ระดับ 209.93 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.43 จากเดือนก่อนหน้า ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market capitalization) โดยรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 5,510,920 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.28 จากสิ้นเดือนกันยายน ทั้งนี้เป็นผลจากการปรับตัวลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 จำนวนหลักทรัพย์ที่มีอัตราส่วนราคาหลักทรัพย์ต่อมูลค่าทางบัญชีต่ำกว่า 1 เท่า (P/BV < 1.0) อยู่ที่ 275 หลักทรัพย์ ลดลงจาก 277 หลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือนกันยายน หรือคิดเป็นร้อยละ 53.29 จากจำนวนหลักทรัพย์ทั้งหมด 516 หลักทรัพย์ 3. ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ ในเดือนตุลาคม 2552 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันปรับตัวสูงสุดในรอบ 27 เดือน โดยมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยรายวันของตลาดหลักทรัพย์ฯ SET และ mai มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 27,016 ล้านบาทต่อวัน สูงสุดในรอบ 27 เดือนนับจากเดือนกรกฎาคม 2550 ที่มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวัน 32,189 ล้านบาท ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์รวมอยู่ที่ 567,327 ล้านบาท นอกจากนี้ พบว่า กลุ่มนักลงทุนทั่วไปในประเทศยังคงมีสัดส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์สูงที่สุดคือร้อยละ 63 ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด สำหรับฐานะการซื้อขายสุทธินั้น นักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ (Proprietary Trading) มีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิ ในขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศมีฐานะซื้อสุทธิเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน และในช่วงเดือนมกราคม—ตุลาคม 2552 พบว่านักลงทุนต่างประเทศมีสถานะซื้อสุทธิมูลค่ากว่า 55,722 ล้านบาท เทียบกับสถานะขายสุทธิ 162,357 ล้านบาทในปี 2551 ในด้านสัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของหลักทรัพย์พบว่าสัดส่วนการซื้อขายในกลุ่มพลังงานปรับลดลงต่อเนื่องแต่ปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยสัดส่วนการซื้อขายในกลุ่มพลังงานยังคงลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 32 ในเดือนก่อนหน้า เป็นร้อยละ 27 ในขณะที่สัดส่วนการซื้อขายในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 24 หลังจากปรับลดลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้หมวดอุตสาหกรรมอื่นที่มีสัดส่วนมูลค่าซื้อขายเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม คือ หมวดธุรกิจการเกษตร โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับร้อยละ 1.3 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนการซื้อขายแยกตามกลุ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ยังมีสัดส่วนใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยพบว่าหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 10 อันดับแรก มีสัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 34 ในเดือนก่อนหน้าเป็นร้อยละ 36 4. จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายในเดือนกันยายน 2552 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายทั้งสิ้น 143,108 บัญชี เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากเดือนกันยายน 2551 ขณะที่อัตราส่วนของบัญชีที่มีการซื้อขาย (Active Rate) อยู่ที่ร้อยละ 25.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.2 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีอยู่ที่ 3.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 61 จากเดือนกันยายน 2551 สำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ทางอินเทอร์เนต (Internet Trading) ในเดือนตุลาคม 2552 พบว่าจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากเดือนกันยายน 2552 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เนตเพิ่มขึ้นร้อยละ 118 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2551 แต่ปรับลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2552 ทั้งนี้มูลค่าการซื้อขายทางอินเทอร์เนตในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ 123,680 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21.8 ของมูลค่าซื้อขายรวมทั้งหมด ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 22.5 ในเดือนก่อนหน้า 5. สรุปภาวะตลาดอนุพันธ์ จำนวนสัญญาซื้อขาย Gold Futures เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีจำนวนสูงสุด นับจากเริ่มเปิดทำการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ทองคำ ในเดือนตุลาคม 2552 ตลาดอนุพันธ์มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันเท่ากับ 16,012 สัญญา เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จากเดือนก่อนหน้า ตามความผันผวนของตราสารอ้างอิงที่สูงขึ้น โดยพบว่ามีจำนวนสัญญาซื้อขายเพิ่มขึ้นในตราสารทุกประเภท โดยตราสารที่มีปริมาณสัญญาซื้อขายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในอัตราสูงที่สุด คือ Single Stock Futures เพิ่มขึ้นร้อยละ 85 รองลงมาคือ Gold Futures เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 ซึ่งถือเป็นปริมาณการซื้อขายรายวันเฉลี่ยสูงที่สุด (New high) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับตั้งแต่เริ่มเปิดทำการซื้อขายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เนื่องจากความสนใจของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นตามราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น 6. ภาพรวมด้านการระดมทุน ในเดือนตุลาคม 2552 บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุน 2,851 ล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนในตลาดแรก ผ่านการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) มูลค่า 248 ล้านบาท คือ บมจ.เกียรติธนาขนส่ง (KIAT) และ บมจ.มุ่งพัฒนา อินเตอร์เนชั่นแนล (MOONG) ขณะที่มีการระดมทุนในตลาดรอง 2,603 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการระดมทุนของบริษัท น้ำมันพืชไทย (TVO) และบริษัทในกลุ่ม ปตท. มูลค่า 845 และ 582 ล้านบาท ตามลำดับ หัวข้อพิเศษ 1. รายงานผลผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์งวดไตรมาส 3/2552 ในไตรมาส 3/2552 ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ดีขึ้น เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้วและไตรมาสก่อนหน้า โดยมีกำไรสุทธิ 24,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 จากไตรมาส 2/2552 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากไตรมาส 3/2551 เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย และผลบวกจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารฯ ยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ได้ดี โดยมีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ร้อยละ 5.7 ลดลงจากร้อยละ 5.74 ในไตรมาส 2/2552 และจากร้อยละ 6.46 ในไตรมาส 3/2551 2. การเปิดเสรีค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชั่น) จากการประเมินสภาพแวดล้อมและโครงสร้างของธุรกิจหลักทรัพย์ของไทยในปัจจุบัน พบว่า ธุรกิจหลักทรัพย์มีความพร้อมในการปรับตัวต่อการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่จะมีขึ้นในแบบขั้นบันไดในปี 2553 และแบบเต็มรูปแบบในปี 2555 ได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับการเปิดเสรีเมื่อปี 2543 เนื่องจาก 1) สถานะทางการเงินของบริษัทหลักทรัพย์โดยรวมมีความแข็งแกร่ง โดยในช่วงปี 2548 — งวดสะสม 9 เดือนแรกของปี 2552 (ยกเว้นปี 2551 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ) พบว่าบริษัทหลักทรัพย์มีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 20 นอกจากนี้ มูลค่าในส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด ณ สิ้นเดือนกันยายน 52 มีสูงถึง 57,132 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าในปี 2543 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ในครั้งที่แล้วถึง 1 เท่าตัว 2) จำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์และมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายเฉลี่ยต่อเดือนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 อยู่ที่ 105,652 ราย เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในปี 2543 ซึ่งมีเพียง 48,432 ราย หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว ขณะเดียวกันมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันระหว่างช่วงปี 2548 จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ 15,870 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งมากกว่ามูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยในช่วงปี 2542 — 2543 (ช่วงก่อนการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ครั้งก่อนหน้า) ที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยเพียง 4,999 ล้านบาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว นอกจากนั้น การซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เนตซึ่งมีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ต่ำกว่าค่าธรรมเนียมปกติได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยมีสัดส่วนของการซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เนตต่อมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด อยู่ที่ร้อยละ 21 (ค่าเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552) เทียบกับระดับที่น้อยกว่าร้อยละ 0.1 ในปี 2543 3) บริษัทหลักทรัพย์มีแหล่งรายได้ที่หลากหลายและมีการกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ - การสร้างรายได้โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านทางบัญชีเงินลงทุนของบริษัท (Proprietary trading) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างรายได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของตนเองมากขึ้นตามลำดับ สะท้อนได้จากสัดส่วนของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ (Proprietary trading) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 พบว่า สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์เองมีถึงร้อยละ 12 ของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมด เทียบกับในช่วงปี 2542 -2543 ที่คิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของมูลค่าการซื้อขาย - การสร้างรายได้จากประเภทสินค้าที่เพิ่มขึ้น ในปี 2549 ได้มีการเปิดตัวตราสารอนุพันธ์ชนิดแรกในตลาดอนุพันธ์ (TFEX) คือ SET50 Index Futures และต่อมาได้มีการเพิ่มสินค้าอย่างต่อเนื่องคือ SET50 Index Options, Single Stock Futures และ Gold Futures นอกจากนั้น ในปี 2553 ตลาดอนุพันธ์ (TFEX) มีแผนที่จะเพิ่มสินค้าอีก 2 ชนิดคือ Mini Gold Futures และ Interest Rate Futures ซึ่งเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักลงทุนได้ในทุกสภาวะตลาด - การสร้างรายได้จากรูปแบบการบริการที่หลากหลาย คือ การเป็นตัวแทนซื้อขายกองทุนรวม, ตราสารหนี้, บริการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของต่างประเทศ รวมถึงการบริการออกตราสารประเภทหุ้นกู้อนุพันธ์ เป็นต้น 4) การหาพันธมิตรเพื่อสร้างความแข็งแรงทางธุรกิจ ในช่วงที่ผ่านมา ทางการได้ผ่อนคลายกฏเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถควบรวมธุรกิจได้คล่องตัวขึ้น และในช่วงปี 2552 มี 5 บริษัทหลักทรัพย์ได้ควบรวมธุรกิจเพื่อรองรับการเปิดเสรีในปี 2555 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทหลักทรัพย์ได้มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้า โดยกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ที่ทำการควบรวมกิจการกันมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1) บล. เคทีบี ควบรวมกิจการกับ บล. ซิมิโก โดยเปลี่ยนชื่อเป็น บล. เคที — ซิมิโก และ 2) บล.ฟินันซ่า ควบรวมกิจการกับ บล. ไซรัส และ บล. สินเอเชีย โดยเปลี่ยนชื่อเป็น บล. ฟินันเซีย ไซรัส จากเหตุผลข้างต้นจะทำให้ธุรกิจหลักทรัพย์สามารถปรับตัวต่อการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันที่มีประสิทธิภาพและรูปแบบการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการนักลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น จัดทำโดยฝ่ายวางแผนกลยุทธ์องค์กร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. S-E-T Call Center 0-2229-2222 สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229 — 2048 วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ