กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--ปภ.
ช่วงเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคมของทุกปีเป็นช่วงที่อิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว ยังส่งผลให้คลื่นลมในอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง คลื่นสูง 2-4 เมตรอาจทำให้เกิดคลื่นซัดชายฝั่งทะลด้านตะวันออกของภาคใต้ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเพื่อลดความสูญเสียดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอแนะวิธีเตรียมความพร้อมรับมือดินโคลนถล่มและคลื่นซัดชายฝั่ง ดังนี้
การเตรียมความพร้อมรับมือดินโคลนถล่ม พื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่มของภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ทางน้ำไหลผ่าน ที่ลาดชันบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวควรเตรียมความพร้อมรับมือดินโคลนถล่ม ดังนี้
ก่อนเกิดภัย ให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด หากสังเกตพบสัญญาณผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น ฝนตกหนักนานเกินกว่า 6 ชั่วโมง ปริมาณน้ำฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตร น้ำในแม่น้ำมีสีขุ่นข้นและระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีต้นไม้ขนาดเล็กไหลมากับน้ำ มีเสียงดังผิดปกติบริเวณภูเขา ให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มขึ้นได้ ให้เตรียมอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยในทันที
ขณะเกิดภัย ให้อพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยทันที โดยอพยพไปตามเส้นทางที่พ้นจากแนวการไหลของดินถล่มขึ้นที่สูงหรือสถานที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีแนวการไหลของดิน และเส้นทางที่กระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากหากจำเป็นต้องใช้เส้นทางดังกล่าว ให้ใช้เชือกผูกลำตัวแล้วยึดติดไว้กับต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกระแสน้ำเชี่ยวกรากพัดจมน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีโดยเด็ดขาด เพราะอาจกระแทกกับซากต้นไม้หรือหินที่ไหลมาตามน้ำจนจมน้ำเสียชีวิตได้
หลังเกิดภัย ห้ามเข้าใกล้บริเวณที่เกิดดินโคลนถล่มหรือบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากอาจเกิดการพังทลายซ้ำ กำหนดเขตปลอดภัย โดยติดตั้งป้ายเตือนว่าพื้นที่ใดปลอดภัยและพื้นที่ใดเสี่ยงต่อการเกิดดินโคลนถล่มซ้ำ พร้อมเร่งระบายน้ำออกจากบริเวณที่ดินถล่มให้มากที่สุดโดยทำทางเบี่ยง เพื่อไม่ให้น้ำไหลลงมาสมทบเข้าไปในมวลดินเดิมที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว การเตรียมความพร้อมรับมือคลื่นซัดชายฝั่ง ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีจนถึงนราธิวาส ควรเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์คลื่นซัดชายฝั่งอย่างรุนแรงในช่วงฤดูมรสุม (ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) ดังนี้
ก่อนเกิดภัย ดูแลซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง และเสริมแนวคันตลิ่งริมชายฝั่งทะเลให้มีความมั่นคงแข็งแรง หมั่นติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศแจ้งเตือนภัย ให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น ไฟฉาย ยารักษาโรค เป็นต้น หากเกิดสถานการณ์ภัยจะได้สามารถนำมาใช้งานได้ทันที
ขณะเกิดภัย ตั้งสติให้มั่นและปฏิบัติตามแผนอพยพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยอพยพไปยังบริเวณที่ปลอดภัยห่างจากชายฝั่งทะเล ห้ามนำเรือเล็กออกจากฝั่งในช่วงที่มีประกาศแจ้งเตือนภัย กรณีเกิดคลื่นลมแรงขณะอยู่ในทะเลให้แล่นเรือไปหลบยังพื้นที่อับลม
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวชายทะเล ควรติดตามพยากรณ์อากาศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวางแผนกิจกรรมการท่องเที่ยวและกำหนดมาตรการป้องกันให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หากมีประกาศแจ้งเตือนภัยคลื่นพายุซัดฝั่งคลื่นลมแรง ควรงดบริการการท่องเที่ยว การประกอบกิจกรรมทางทะเล และงดนำเรือออกจากชายฝั่งอย่างเด็ดขาดการหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศ การปฏิบัติตนตามประกาศแจ้งเตือนภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และรู้จักสังเกตสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติ จะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน
จากดินโคลนถล่ม และคลื่นซัดชายฝั่งได้ ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ ดินโคลนถล่ม และคลื่นซัดชายฝั่ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2432200 PR DDPM