กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--เจแปนฟาวน์เดชั่น
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯร่วมกับเจแปนฟาวน์เดชั่นนำเสนอนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย “สุก-ดิบ อาทิตย์อุไทย” โดยศิลปินร่วมสมัยที่โดดเด่นชาวญี่ปุ่น
นิทรรศการศิลปะนี้นำเสนอระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2552 ถึงเดือนมกราคม 2553 เป็นการแนะนำอย่างเป็นทางการให้สาธารณชนรู้จักกับผลงานของศิลปินญี่ปุ่นซึ่งได้รับอิทธิพล อย่างสูงจาก วัฒนธรรมสมัยนิยม (pop culture) อย่างเช่น การ์ตูนมังงะ และการ์ตูนอนิเมะ โดยเน้นให้เห็นถึงแนวทางสังคมและกระแสใหม่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมญี่ปุ่นในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลงานอันหลากหลายที่นำมาจัดแสดงถูกคัดสรรโดย เคนจิ คูโบตะ ภัณฑารักษ์อิสระ และ โยโกะ โนเสะภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะ โตโยต้า มิวนิซิเพิล โดยมุ่งหวังให้นิทรรศการ “สุก-ดิบ อาทิตย์อุไทย” นี้เป็นการสำรวจผลงานศิลปะที่สะท้อนให้เห็นถึงหลากหลายแง่มุมทั้งกรอบความคิดและสังคมของคนร่วมสมัย จากงานจิตรกรรม ศิลปะการจัดวาง วิดีโออาร์ต ประติมากรรม ภาพถ่าย หรือแม้แต่หุ่นยนต์ขนาดใหญ่สูงกว่า 7 เมตรตามด้วยหุ่นยนต์ขนาดจิ๋ว นิทรรศการร่วมสมัยนี้นำเสนองานทัศนศิลป์ที่ประกอบด้วยรายละเอียดทางศิลปะที่เปี่ยมไปด้วยพลังในการสร้างสรรค์ และแฝงความหมายล้ำลึกเกี่ยวเนื่องกับสังคมและประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น นิทรรศการนี้จะเป็นการรวบรวมผลงานกว่า 40 ชิ้นจากศิลปินญี่ปุ่น 17 คน วัฒนธรรมญี่ปุ่นในรูปแบบของการ์ตูนมังงะ การ์ตูนอนิเมะ เกมส์ ดนตรี วรรณกรรม และภาพยนตร์ ไม่ใช่รูปแบบทางวัฒนธรรมรูปแบบเดียวที่ผ่านเข้ามากลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทยเท่านั้น แต่อิทธิพลนี้ยังได้แผ่ขยายไปถึง อาหาร เสื้อผ้า จนถึงที่พักอาศัย นิทรรศการ “สุก-ดิบ อาทิตย์อุไทย” จึงเป็นโอกาสให้ผู้ชมในวงกว้างสามารถมองเห็นและรับรู้ได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่นและจินตนาการที่เกิดขึ้นจากมุมมองทางศิลปะ และนอกจากงานศิลปะแล้วยังมีกิจกรรมเสวนาระหว่างศิลปินไทยและญี่ปุ่น รวมถึงการบรรยายจากศิลปินญี่ปุ่นต่อสาธารณชน โดยเฉพาะนักศึกษาไทย ซึ่งท้ายที่สุดจุดประสงค์ของนิทรรศการคือการก่อให้เกิดมุมมองที่เป็นประโยชน์ ในการสร้างความเข้าใจเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต
นิทรรศการ “สุก-ดิบ อาทิตย์อุไทย” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจากเจแปนฟาว์นเดชั่น เพื่อเฉลิมฉลองปีแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่น เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ถึง 10 มกราคม 2553 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน เวลาทำการระหว่าง 10.00 น. — 21.00 น. วันอังคารถึงวันอาทิตย์ ( หยุดทุกวันจันทร์ ) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข 02-214 6630-8