กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--IR PLUS
“วุฒิชัย ลีนะบรรจง” ปลื้มผลประกอบการไตรมาส 3/52 ของ CEN พลิกโชว์กำไรสุทธิ 36.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 208.66% จากไตรมาส 2/52 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 33.36 ล้านบาท เหตุบริษัทลูกทั้ง ระยองไวร์ฯ-เอื้อวิทยา-เอ็นเนซอล สร้างผลงานเยี่ยม โดยได้รับแรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว อีกทั้งสามารถบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น ทำให้มั่นใจว่าผลงานสิ้นปีนี้จะสร้างผลงานที่ทำให้ผู้ถือหุ้นประทับใจ ส่วนแนวโน้มปี 2553 เชื่อรายได้ขยายตัวอีกไม่ต่ำกว่า 15% จากแนวโน้มธุรกิจที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ CEN ประกาศแตกพาร์จากหุ้นละ 5 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท แจงเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับหุ้นในกลุ่มวัสดุก่อสร้างรายอื่น และคาดช่วยหนุนให้การซื้อขายคึกคักตามสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น
นายวุฒิชัย ลีนะบรรจง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และรองประธานกรรมการ บริษัทแคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ CEN เปิดเผยว่าผลประกอบการในไตรมาส 3/52 สามารถพลิกมีกำไรสุทธิ 36.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 208.66% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/52 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 33.36 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทย่อยทั้ง 3 แห่งคือ บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์จำกัด, บริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ็นเนซอล จำกัด มีผลประกอบการดีขึ้นทั้งหมด โดยได้รับผลบวกจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ฟื้นตัว ภายหลังจากรัฐบาลได้ผลักดันและกระตุ้นให้เกิดโครงการใหม่ๆ อาทิ โครงการไทยเข้มแข็ง เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยเฉพาะการจัดการเกี่ยวกับวัตถุดิบ ซึ่งได้มีคณะทำงานคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของราคาเหล็ก ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในปีที่แล้ว ซึ่งในไตรมาส1ถึง2/2552 บริษัทได้มีการจัดการปรับต้นทุนเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางราคาเหล็กเรียบร้อยแล้ว เพื่อรับมือกับสถานการณ์และแนวโน้มของราคาและปริมาณความต้องการ ในการนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการสั่งซื้อและบริหารจัดการวัตถุดิบคงคลังให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับระยะเวลาการกำหนดราคาขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทย่อย ซึ่งช่วยให้สามารถบริหารต้นทุนได้ดีขึ้นและยังมีวัตถุดิบเพียงพอต่อแผนการผลิตในระยะรายไตรมาส
“อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบไตรมาส 3/52 กับงวดเดียวกันของปีก่อนจะพบว่ากำไรของ CEN ปรับตัวลดลง แต่นั่นเป็นเพราะในไตรมาส 3/51 มีรายการพิเศษเกิดขึ้นคือ มีการรับรู้รายได้จากหนี้สงสัยจะสูญรับคืนถึง 97.96 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบเป็นตัวเลขของกำไรที่เกิดจากการดำเนินงานที่แท้จริงจะพบว่าในปีนี้ CEN มีกำไรจากการดำเนินงานมากกว่าปีที่แล้วเกือบ 20 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการวางแผนและบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
นายวุฒิชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า CEN ดำเนินธุรกิจในด้านการลงทุนในบริษัทอื่น โดยปัจจุบันได้ลงทุนในบริษัทย่อย 3 แห่ง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผลประกอบการในไตรมาสนี้ออกมาเป็นบวกทั้งหมด ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มฟื้นตัว โดยในส่วนของ บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลวดเหล็กแรงดึงสูง ซึ่งในปัจจุบันจัดเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีความสำคัญและเป็นที่ต้องการมากขึ้น สำหรับใช้เป็นวัสดุในงานก่อสร้างที่เน้นความแข็งแรง ทนทาน และแนวโน้มของธุรกิจยังคงขยายตัวดี โดยบริษัทได้รับผลบวกโดยตรงจากการที่ภาครัฐได้ผลักดันให้เกิดโครงการใหม่ๆอย่างต่อเนื่องอาทิโครงการไทยเข้มแข็งเป็นต้น
สำหรับ บมจ.เอื้อวิทยา ซึ่งผลิตและจำหน่ายโครงเหล็กชุบสังกะสีสำหรับเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เสาโทรคมนาคม และโครงเหล็กสถานีไฟฟ้าย่อย ยังมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามโครงการขยายระบบสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งยังคงมีความต้องการสูงจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มในปี 2553 ยังมีการเปิดประมูลโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท และบริษัทคาดว่าจะสามารถชนะการประมูลและคว้างานมาได้กว่า 40-50% เนื่องจากเอื้อวิทยาเป็นบริษัทที่สามารถผลิตสายไฟฟ้าขนาด 500 kV. ได้ ซึ่งมีไม่กี่บริษัทในประเทศที่ทำได้ ในส่วนของ บริษัท เอ็นเนซอล จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านบริหารการจัดการพลังงาน และบริหารโรงผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่บริษัท เดอะ สยามเซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรีส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือปูนซีเมนต์ไทย ปัจจุบันมีการปรับปรุงประสิทธิภาพและสามารถดำเนินงานได้ตามแผนที่วางไว้ได้ทั้งการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อน
“จากการดำเนินธุรกิจที่ยังมีการขยายตัว ผนวกกับไตรมาส 4 ปีนี้คาดว่าจะทำได้ดีไม่แพ้ไตรมาส 3 ทำให้มั่นใจว่าสิ้นปีนี้ CEN น่าจะสร้างผลงานที่เป็นบวกให้ผู้ถือหุ้นประทับใจได้ และสำหรับปี 2553 ยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องโดยคาดว่ารายได้จะมีอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 15% จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการกระตุ้นจากภาครัฐ ทำให้มีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก อีกทั้ง CEN มีแผนที่จะรุกตลาดไปยังต่างประเทศอีกด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการในประเทศลิเบีย และคาดว่าจะสามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายได้ในปี 2553 พร้อมกันนี้ยังพยายามมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในและนอกประเทศเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้ของ CEN ในปีหน้าให้มีอัตราการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นายวุฒิชัย กล่าว
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการของบริษัท ครั้งที่ 6/2552 ได้มีมติให้เปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ของบริษัทจากเดิมหุ้นละ 5 บาท เป็นมูลค่าหุ้นละ 1 บาท โดยทุนจดทะเบียนของบริษัทจะคงเดิม คือ 625,000,000 บาท โดยการแตกหุ้นสามัญจาก 125,000,000 หุ้นมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท เป็น 625,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ในครั้งนี้จะทำให้มูลค่าหุ้นของ CEN อยู่ในมาตรฐานเดียวกับบริษัทในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการประเมินและเปรียบเทียบข้อมูลของนักวิเคราะห์และนักลงทุน อีกทั้งคาดว่าจะทำให้การซื้อขายหุ้น CEN ในกระดานความคึกคักขึ้นตามสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทฯได้กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 ในวันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2553 โดยจะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 ในวันที่ 3ธันวาคม 2552 และให้รวบรวมรายชื่อ ตาม ม.225 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยวิธีปิดสมุดทะเบียนในวันที่ 4 ธันวาคม 2552
ข้อมูล บริษัท แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน)
บริษัทดำเนินธุรกิจในด้านการลงทุนในบริษัทอื่น โดย ณ ปัจจุบัน บริษัทได้ลงทุนในบริษัทย่อย 3 บริษัท คือ บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด บริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ็นเนซอล จำกัด โดยคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการบริหารจะเป็นผู้กำหนดนโยบายด้านการดำเนินธุรกิจและให้อิสระแก่ผู้บริหารของบริษัทย่อยในการบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จ
บริษัท ระยองไวร์ อินดัสตรีส์ จำกัด
บริษัทย่อยดำเนินธุรกิจด้านผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลวดเหล็กแรงดึงสูง และลวดเชื่อมไฟฟ้า โดยมีกำลังการผลิตรวม 36,000 ตันต่อปี ซึ่งสามารถแบ่งผลิตภัณฑ์ได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. ลวดเหล็กแรงดึงสูงชนิดเส้นเดี่ยว (Prestressed Concrete Wire หรือ PC-Wire) มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 4, 5, 7 และ 9 มิลลิเมตร ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เลขที่ มอก. 95-2540 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างที่เน้นความแข็งแรง ความทนทาน เพื่อรองรับน้ำหนัก โดยนิยมนำไปใช้ในการผลิตเสาเข็ม เสาไฟฟ้า แผ่นพื้นสำเร็จรูป และไม้หมอนคอนกรีตสำหรับรางรถไฟ มีกำลังการผลิตประมาณ 19,200 ตันต่อปี
2. ลวดเหล็กแรงดึงสูงชนิดตีเกลียว (7- Wire Prestressed Concrete Strand หรือ PC-Strand) มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9.3, 9.5, 12.4, 12.7 และ 15.2 มิลลิเมตร ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเลขที่ มอก. 420-2540 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการนำลวดเหล็กแรงดึงสูงชนิดเส้นเดี่ยวมาตีเกลียวเข้าด้วยกัน ทำให้สามารถรับแรงดึงได้มากขึ้น และนิยมนำไปใช้ในงานก่อสร้างขนาดใหญ่ อาทิ คานสะพาน ทางยกระดับ เสาเข็มขนาดใหญ่ และไซโลเป็นต้นมีกำลังการผลิต14,400ตันต่อปี
3. ลวดเชื่อมไฟฟ้า (Welding Wire) มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8, 0.9 และ 1.2 มิลลิเมตร ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเลขที่ มอก. 597-2528 และมาตรฐาน BV (Bureau Veritas) หรือเรียกกันว่า MIG WIRE เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเชื่อมโลหะ เช่น อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ อู่ต่อเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ ท่อสูบน้ำ ถังแก๊ส รถไถนา หม้อแปลงไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น มีกำลังการผลิต 2,400 ตันต่อปี
บริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน)
บริษัทย่อยดำเนินธุรกิจด้านผลิตและจำหน่ายโครงเหล็กชุบสังกะสีสำหรับเสาสายส่งไฟฟ้า แรงสูง เสาโทรคมนาคม และโครงเหล็กสถานีไฟฟ้าย่อย และมีการให้บริการชุบสังกะสีให้แก่ลูกค้าทั่วไป และจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์ส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ของบริษัทย่อยเป็นประเภทที่ผลิตและจำหน่ายตามความต้องการของลูกค้า
ผลิตภัณฑ์ของบริษัทย่อยมีดังนี้
1. โครงเหล็กเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เป็นเสาโครงเหล็กชุบสังกะสี ผลิตตามความต้องการของลูกค้า เพื่อใช้ในโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อรองรับสายไฟฟ้าขนาดแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 115 kV.- 500 kV. จากโรงไฟฟ้าถึงสถานีไฟฟ้าย่อยก่อนที่จะส่งต่อไปถึงสถานที่ผู้ใช้งานในเขตชุมชนโดยใช้เสาคอนกรีตต่อไป
2. โครงเหล็กเสาโทรคมนาคม เป็นเสาโครงเหล็กเพื่อรองรับอุปกรณ์สื่อสารในระบบโทรคมนาคม มีความสูงตั้งแต่ 20 เมตร ถึงมากกว่า 100 เมตร ผลิตตามความต้องการของลูกค้าซึ่งจะกำหนดให้มีการออกแบบในรายละเอียดและให้มีการทดลองประกอบก่อนที่จะผลิตเพื่อการส่งมอบโครงเหล็ก
3. เสาโครงเหล็กสถานีไฟฟ้าย่อยและโครงเหล็กทั่วไป เป็นเสาโครงเหล็กที่รองรับอุปกรณ์ไฟฟ้าในสถานีไฟฟ้าย่อย เพื่อรองรับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น transformers, disconnecting switches, Lighting arrestors, capacitors และ ฯลฯ และเป็นเสาขนาดเล็กไม่สูงมากนัก ในส่วนของโครงเหล็กทั่วไปก็เป็นโครงเหล็กที่ใช้ในกิจการต่างๆ เช่น โครงหลังคาทางเดินรั้วฯลฯ
4. การบริการชุบสังกะสี เป็นบริการให้ลูกค้าทั่วไปที่มีผลิตภัณฑ์โครงเหล็กของตนเอง แต่ต้องการให้มีการชุบสังกะสี เพื่อให้ผลิตภัณฑ์คงทนต่อการเกิดสนิม ผลิตภัณฑ์ของลูกค้าดังกล่าวได้แก่ ตระแกรง ท่อเหล็กรางรับสายไฟฯลฯ
5. การจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งได้แก่อุปกรณ์ส่งกำลังประเภท โซ่ เฟือง มอเตอร์และเกียร์ต่างๆ ผลิตภัณฑ์ส่งกำลังที่จัดจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงนำเข้ามาจากต่างประเทศ
บริษัท เอ็นเนซอล จำกัด
บริษัทย่อย จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการธุรกิจทางด้านการบริหารจัดการพลังงานโดยเฉพาะ ซึ่งมีความพร้อมที่จะนำเสนอโครงการ เป็นโรงไฟฟ้าประเภทผลิตร่วม หรือ โรงไฟฟ้าประเภทผลิตไฟฟ้าร่วมกัน 2 วงจร เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดต่างๆ ตั้งแต่ขนาดเล็กเพื่อใช้ในอาคารหรือโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้สามารถนำเสนอโครงการทั้งในรูปแบบของผู้รับจ้างก่อสร้างแบบเบ็ดเสร็จ (รวมงานออกแบบก่อสร้าง และดำเนินการ) และรูปแบบของสัมปทานการผลิตและดำเนินการจนถึงการส่งมอบทรัพย์สินเมื่อครบกำหนดสัมปทานโครงการแรกของบริษัทย่อย ได้แก่ โครงการลงทุนผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า และพลังงานความร้อนแก่บริษัท เดอะ สยาม เซรามิค กรุ๊ป อินดัสทรี่ส์จำกัดจังหวัดสระบุรี
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : IR PLUS พันธนันท์ เมฆขาว (เอ๊าะ) โทร. 02-554-9396
E-mail : phantanan@irplus.in.th