กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุ ผู้ป่วยที่มีภาวะซีดเรื้อรัง และต้องรับการถ่ายเลือดตลอด นับว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะเหล็กเกินในร่างกาย จากการที่ร่างกายไม่มีกลไกในการขับเหล็กออก ซึ่งเหล็กที่รับเข้าไปเพิ่มจากการรับเลือดจะสะสมอยู่ในร่างกาย และอาจเป็นพิษได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์นพดล ศิริธนารัตนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ภาวะเหล็กเกิน (Iron Overload Management) เกิดจากการถ่ายเลือด ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยโลหิตจางรู้สึกแข็งแรงขึ้น การถ่ายเลือดยังช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น และมีความสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยแข็งแรง ทุกครั้งที่ได้รับการถ่ายเลือดผู้ป่วยจะได้รับเหล็กซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญชองเซลล์เม็ดเลือดแดง เหล็กจะเริ่มสะสมภายในร่างกายหลังจากได้รับการถ่ายเลือดประมาณ 10 ครั้ง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดเหล็กออกได้ เมื่อเหล็กภายในร่างกายมีระดับสูงมากเกินไป จะเกิดความเป็นพิษขึ้น เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะเหล็กเกิน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นภาวะแทรกซ้อนอันเป็นผลมาจากการถ่ายเลือดบ่อยครั้ง โดยสถิติผู้ใหญ่และเด็กประมาณ 100,000 รายทั่วโลก ที่ได้รับเลือดอย่างเพียงพอจะเกิดภาวะเหล็กเกินขึ้น
“ในการถ่ายเลือด 1 ครั้ง ย่อมจะต้องได้รับเลือดใหม่ 2 ยูนิต ซึ่งอาจเกิดภาวะเหล็กเกินได้ และแม้ว่า ผู้ที่ได้รับเลือดจะเว้นช่วงระยะเวลาของการถ่ายเลือดนานเป็นปีก็ตาม ดังนั้นการติดตามจำนวนยูนิตที่ผู้ป่วยได้รับการถ่ายเลือด ทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญ หากผู้ที่ได้รับเลือด มีความจำเป็นต้องได้รับการถ่ายเลือดให้ใกล้เคียงหรือมากกว่า 20 ยูนิต ตลอดช่วงชีวิตของผู้ป่วยควรระมัดระวังเกี่ยวกับภาวะเหล็กเกิน โดยต้องมีการพูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับเรื่องนี้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์นพดล กล่าว
ภาวะเหล็กเกิน ซึ่งเกิดจากการสะสมของเหล็กในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และแม้ว่าภาวะเหล็กเกินอาจจะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บป่วย แต่ก็มีอันตรายต่อร่างกายเมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะหากปล่อยทิ้งไว้ และไม่ได้รับการรักษา เหล็กที่มากเกินไปจะไปทำลายตับ หัวใจ และต่อมไร้ท่อ
ด้านผศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา ภาควิชากุมารเวชกรรม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ภาวะเหล็กเกินโดยส่วนใหญ่เกิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดเบต้า ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงผู้ป่วยจะซีด ม้ามโต จำเป็นต้องให้เลือด โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียอีกชนิดคือ อัลฟ่า ถ้าเป็นรุนแรง ทารกอาจจะเสียชีวิตในท้อง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียไม่มีผลต่อสถิติปัญญา สามารถเรียนหนังสือในขั้นสูงๆ ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการรักษา โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับเลือดไปตลอดชีวิต
“ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็น โรคทางพันธุกรรม มีความเสี่ยงตั้งแต่อายุยังน้อย ต้องได้รับเลือด ซึ่งย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะเลือดทุกถุงที่ผู้ป่วยได้รับ จะมีธาตุเหล็กปนมากับเม็ดเลือดแดง เฉลี่ยเลือด 1 ถุงที่ผู้ป่วยรับจะมีธาตุเหล็กประมาณ 200 มิลลิกรัม ถ้าผู้ป่วยต้องรับเลือดในหลาย ๆ ถุง จะส่งผลต่อภาวะเหล็กเกินในร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยต้องรักษาด้วยการให้ยาขับเหล็ก” ผศ.ดร.นพ.วิปร กล่าว
การพิจารณาให้ยาขับเหล็กในผู้ป่วยที่มีภาวะเหล็กเกินจากการให้เลือดนั้น จะช่วยป้องกันพยาธิสภาพที่รุนแรงดังกล่าวข้างต้นได้
การให้ยาขับเหล็กมีทั้งรูปแบบฉีด ซึ่งเป็นยามาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเหล็กเกินจากการถ่ายเลือดในเกือบทุกประเทศทั่วโลก แต่เนื่องจากเป็นยาฉีด ต้องให้เป็นระยะเวลานาน 8-12 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5-7 วัน ทำให้ผู้ป่วยหลายรายหยุดหรือหลีกเลี่ยงที่จะให้ยาขับเหล็ก ในปัจจุบันจึงมียาขับเหล็กชนิดใหม่ในรูปแบบรับประทานวันละ 1 ครั้ง ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาในประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศไทย โดยมีประสิทธิภาพในการขับเหล็กที่มากเกินไปได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชม. นับเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาว
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับ “ ภาวะเหล็กเกินและแนวทางในการรักษาในปัจจุบัน” ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะจัดบรรยายพิเศษสำหรับผู้ป่วยและประชาชนผู้ที่สนใจ ในหัวข้อ ภาวะเหล็กเกิน อันตรายที่ป้องกันได้ ” ในวันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2549 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องประชุมสิริณธร ชั้นG อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช
ในงานดังกล่าวท่านจะได้รับทราบข้อมูลเรื่องโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะเหล็กเกินในร่างกาย การวินิจฉัยจากการตรวจเลือด สาเหตุการเกิดโรค และแนวทางการป้องกันและการรักษา ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และสำรองที่นั่งได้ตั้งแต่บัดนี้ที่คุณธนศักย์ โทร 02-439-4600 ต่อ 8202 ,8301 หรือ 081-421-5249 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณปาริชาติ สุวรรณ์, คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด
โทร.0-2439-4600 ต่อ 8202, 081-421-5249