กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--สวทช.
การรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด(หรือ OEM) เป็นหนึ่งในกระบวนการผลิตของ “เพิ่มพูนพัฒนา อุตสาหกรรม” บริษัทที่รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์สำลีประเภทต่างๆ อาทิ สำลีก้าน สำลีแผ่น สำลีก้อน ฯลฯ บริษัทเจ้าของคนไทย 100% และผู้ส่งออกสำลีคุณภาพรายใหญ่แห่งเอเชีย
นายวุฒิ มณีโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเพิ่มพูนพัฒนา อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2537 จากโรงงานเล็กๆที่ทำสำลีก้านหรือคอตตอล บัด (Cotton bud)ที่จังหวัดชลบุรี จากนั้นจึงย้ายฐานการผลิตมาที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อความสะดวกในการบรรจุสินค้า แรงงาน และต้นทุนในการผลิต
“บริษัทฯผลิตสินค้าครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยกระบวนการผลิตสำลีก้านแยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆได้แก่ การผลิตก้านและการผลิตสำลี จากนั้นจึงนำมาประกอบกันเป็น “สำลีก้าน” ด้วยการใช้วัตถุดิบ คือ นำฝ้ายมาฟอกขาว จากนั้นจึงสางเป็นเส้นและนำมาพันหัวสำลี และยังมีกระบวนการผลิตฉีดพลาสติกเพื่อใช้ทำก้านสำลี จนกระทั่งถึงปลายน้ำโดยการทำบรรจุภัณฑ์สินค้าเองอีกด้วย”
กรรมการผู้จัดการ บ.เพิ่มพูนพัฒนา อุตสาหกรรม จก. กล่าวว่า ด้านตลาด บริษัทฯจะส่งออกประมาณ 80% อีก 20% จำหน่ายในประเทศ และรับจ้างผลิตให้แบรนด์ต่างๆเป็น OEM 95% อีก 5% เป็นแบรนด์สินค้าของบริษัทฯ อาทิ ตรา Bonus, สามพยาบาล โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯจะส่งจำหน่ายไปทั่วโลกด้วยวิธีการสร้างพันธมิตรทางการค้า อาทิ ตลาดในอเมริกาจะมีต้นทุนสูงในการผลิตก็มาจ้างบริษัทฯผลิตแทนทำให้ลดต้นทุนและมีกำไรเพิ่มขึ้น
บริษัทฯยังมีนโยบายปรับสัดส่วนตลาดให้สมดุลกันเพื่อลดความเสี่ยงของตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้การผลิตผลิตภัณฑ์สำลีต่างๆของบริษัทฯจะเน้นคุณภาพในราคาที่ประหยัด ตรงกับตามความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ “สินค้าต้องได้มาตรฐาน อาทิ หัวสำลีต้องมีขนาดเท่ากันทุกก้าน ใช้แล้วหัวไม่หลุด ก้านมีความแข็งแรง และที่สำคัญที่สุดคือ มีความขาวสะอาด นอกจากนั้นการผลิตยังต้องคำนึงถึงสเป็กของสินค้าที่ส่งไปยังภูมิภาคต่างๆซึ่งมีความแตกต่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกาจะนิยมใช้สำลีที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของหัวใหญ่กว่าทางฝั่งยุโรปและเอเชีย เป็นต้น ดังนั้นมาตรฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ได้สินค้ามีคุณภาพมากที่สุด”
สำหรับปีนี้ บริษัท เพิ่มพูนพัฒนา อุตสาหกรรม จำกัด ยังมีกำลังการผลิตประมาณ 12, 000 ล้านก้านต่อปี เฉลี่ยผลิตสำลีก้านเดือนละประมาณ 1,000 ล้านก้าน แม้ปริมาณเหล่านี้จะเป็นจำนวนมากเนื่องจากความต้องการของตลาดที่ยังมีสูง แต่บางครั้งยังประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ แรงงาน และเทคโนโลยีที่มาช่วยในกระบวนการผลิตต่างๆ โดยยอดจำหน่ายในปีที่ผ่านมาประมาณ 500 ล้านบาท และสำหรับปีนี้ (2552) ตั้งไว้ประมาณ 600 ล้านบาท
จากการทำงานที่ผ่านมายังทำให้บริษัทฯเล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต จึงเข้าร่วมในโครงการต่างๆของ iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย) อาทิ โครงการพัฒนาต้นแบบระบบหมุนเวียนอากาศเพื่อลดปริมาณฝุ่นและปรับอุณหภูมิภายในอาคารการผลิตแบบปิด เนื่องจากปัญหาของฝุ่นที่เกิดจากฝ้ายซึ่งมีลักษณะเบาและฟุ้งกระจายได้ง่ายและอุณหภูมิภายในอาคาร ด้วยกระบวนการผลิตสำลีต้องการความสะอาดเป็นพิเศษ จึงต้องทำให้อาคารมีลักษณะปิดเพื่อลดการปนเปื้อน ปัญหาเหล่านี้จึงอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานและสุขภาพพนักงาน
โดยฝุ่นที่เกิดขึ้นและอุณหภูมิที่สูงภายในอาคารยังส่งผลให้อายุการใช้งานของเครื่องจักรสั้นลงอีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญจาก iTAP จึงเข้ามาให้คำแนะนำโดยพัฒนาระบบต้นแบบของการหมุนเวียนอากาศ ขณะเดียวกันก็ทำการปรับอุณหภูมิภายในอาคารการผลิตไปพร้อมกัน ในส่วนของฝุ่นที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตระบบต้นแบบนี้ก็จะทำการดักจับฝุ่นไปด้วย
กรรมการผจก. เพิ่มพูนพัฒนา อุตสาหกรรม กล่าวว่า “เนื่องจากบริษัทฯมีอาคารแบบปิด และต้องทำผลิตภัณฑ์สำลีที่เน้นความสะอาด ดังนั้นต้องไม่ให้ฝุ่นเข้า ทำให้ต้องอยู่ในห้องปิด อากาศไม่หมุนเวียน ผลต่างของอุณหภูมิที่สูงขึ้น อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาระบบอากาศในอาคารผลิตโดยมีอาจารย์สรยุทธ วินิจฉัย ผู้เชี่ยวชาญจาก iTAP เข้ามาแนะนำ จนทำให้สามารถแก้ปัญหาเรื่องอุณหภูมิและฝุ่นลงได้ และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงานเพิ่มเติม”
ผู้บริหาร บ.เพิ่มพูนพัฒนา อุตสาหกรรม จก. กล่าวอีกว่า “จากการเข้าร่วมในโครงการต่างๆของ iTAP มองว่า ทำให้สามารถพัฒนาการทำงาน เกิดนวัตกรรม และช่วยอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะความชำนาญของผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆจะเป็นจุดแข็งสำคัญที่เจาะลึกไปในแก่นแท้ของธุรกิจ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญอาจไม่เก่งในทุกสาขา แต่ iTAP ช่วยสกรีนให้ตรงกับความต้องการและแก้ปัญหาในการทำงานของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุด”และขณะนี้บริษัทฯยังมีโครงการอื่นๆที่กำลังทำเพิ่มเติมร่วมกับ iTAP อย่างต่อเนื่อง
ด้วยความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจ บริษัท เพิ่มพูนพัฒนา อุตสาหกรรม จำกัด ยังได้รับรางวัล Bai Po Business Award by Sasin ปี 2009 ซึ่งเป็นรางวัลที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบให้เป็นเกียรติจากการทำงานในมิติของการให้ความสำคัญต่อลูกค้า การมีระบบงานที่มีประสิทธิภาพ และการมีผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงอีกด้วย