กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--พิตอน คอมมิวนิเคชั่น
บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด โดยคุณจิโรจ ณ นคร ผู้จัดการธุรกิจแร่ มารีน สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม ได้จัดงานพิธีมอบใบรับรองมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพอากาศภายในอาคาร (IEQ)ให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRTA) โดยมีตัวแทนการรับมอบคือท่านผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRTA) ซึ่งการจัดพิธีมอบใบรับรองมาตรฐาน IEQ ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRTA) ได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านสุขอนามัย ตลอดจนให้ความสำคัญกับการตรวจสอบมลภาวะรวมไปถึงอากาศเป็นพิษซึ่งถือเป็นการเอาใจใส่ต่อสุขภาพของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าอากาศและมลภาวะเป็นพิษมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของคนทั่วไป บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้นำบริการการตรวจวัดอากาศและมลภาวะภายในอาคารเข้ามาให้บริการในประเทศไทยและถือเป็นเจ้าแรกที่มีการบริการและตรวจสอบอากาศและมลภาวะอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าตรวจสอบคุณภาพอากาศภายในอาคารสำนักงาน โรงพยาบาล โรงภาพยนตร์ ขนส่งมวลชน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ นอกเหนือจากนี้ ทางบริษัทเอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัดยังมีเป้าหมายที่จะตรวจคุณภาพอากาศภายในอาคารเครื่องบินโดยสาร และรถยนต์โดยสารอีกด้วย
คุณจิโรจ ณ นคร ผู้จัดการธุรกิจแร่ มารีน สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม กล่าวว่า “การที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ให้การตอบรับการตรวจสอบคุณภาพอากาศและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการตรวจสอบถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับเอสจีเอสและเจ้าหน้าที่ทุกท่าน เพราะสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีผู้ใช้บริการมากมายและเป็นประจำ การดูแลคุณภาพอากาศภายในสถานีให้มีคุณภาพอากาศที่ดีและปลอดมลพิษจึงมีความสำคัญเพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้บริการการตรวจสอบคุณภาพอากาศของรถไฟฟ้าใต้ดิน
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด พยายามที่จะรณรงค์ให้เจ้าของอาคารและผู้ใช้บริการหันมาเห็นความสำคัญของคุณภาพอากาศภายในอาคารเพราะปัจจุบันเราพบว่าคนทั่วไปใช้ชีวิตอยู่ในอาคารประมาณ 90 % ซึ่งพบว่าอาคารต่างๆ ในประเทศไทยขาดการตรวจสอบและการดูแลรักษาจึงทำให้คนที่อาศัยอยู่ภายในอาคารป่วยเป็นโรคที่เรียกว่าโรคมนุษย์ตึกหรือ Sick Building Syndrome เนื่องจากไม่มีกฎหายบังคับให้เจ้าของอาคารและสถานประกอบการต้องทำการตรวจคุณภาพอากาศภายในอาคารจึงไม่มีคนสนใจมากนัก แต่ปัจจุบันมีผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีวิสัยทัศน์ ต่างให้ความสำคัญของมลภาวะมากขึ้นโดยเฉพาะหน่วยงานที่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการ
การตรวจสอบและผลการตรวจสอบคุณภาพอากาศภายในอาคารของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพอากาศทั้งภายในและภายนอกรถไฟฟ้าใต้ดินทั้ง 18 สถานีโดยการตรวจสอบจะตรวจสอบทั้งสารคาร์บอนไดออกไซด์ สารคาร์บอนมอนน็อกไซด์ อุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์ แบคทีเรียในอากาศ ยีสต์ และเชื้อรา
ดร. สร้อยสุดา เกษรทอง นักวิชาการระดับสูง กระทรวงสาธารณสุขกล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า การสูดดมเชื้อราเข้าไปนานๆ จะทำให้เกิดอาการแพ้โดยมีอาการ น้ำมูกไหล คัดจมูก ปวดหัว การเกิดพิษท็อกซินของจุลินทรีย์ซึ่งสามารถทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น ส่วนการป้องกันต้องมีการดูแลระบบปรับอากาศให้มีความสะอาดเพื่อป้องกันแหล่งกำเนิดของเชื้อแบคทีเรียรวมทั้งควบคุมสภาวะการทำงานของเครื่องปรับอากาศให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรีย
คุณจิโรจ ณ นคร กล่าวเสริมว่า “นอกจากรถไฟฟ้าใต้ดินแล้วเอสจีเอสมีโครงการที่จะตรวจคุณภาพอากาศที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร อาคารสำนักงาน โรงพยาบาลรวมไปถึงโรงภาพยนตร์ เราให้ความสนใจในการร่วมมือกับภาครัฐในการร่วมมือกับทางสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม การควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขในเรื่องข้อมูลที่ได้จากสถิติการตรวจสอบคุณภาพอากาศภายในอาคารของเอสจีเอส โดยนำไปใช้เพื่อผลักดันให้ภาครัฐและเอกชนเห็นความสำคัญของคุณภาพอากาศภายในอาคาร ในปัจจุบันมีทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาสนใจและช่วยดูแลสุขภาพมากขึ้น”
เกี่ยวกับเอสจีเอส
กลุ่มบริษัทเอสจีเอส เป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่มีนวัตกรรมทันสมัยในการให้บริการด้านการตรวจสอบ การทดสอบ และการรับรองระบบ บริษัทเอสจีเอส ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2421 และได้รับการยอมรับว่าเป็นบรรทัดฐานระดับสากลในด้านคุณภาพและความซื่อสัตย์ ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 42,000 คน บริษัทเอสจีเอส ได้ขยายเครือข่ายสำนักงาน และห้องปฏิบัติการกว่า 1,000 แห่งทั่วโลก
ข้อมูลประชาสัมพันธ์ติดต่อ:
คุณ พัชรี และยา
คุณ ญาฐณี เจ็งบำเพ็ญทาน
บริษัท พิตอน คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
โทรศัพท์: 0.2612.2211-7 โทรสาร: 0.2612.2319
อีเมล์: patcharee@PITON.biz , yathanee@PITON.biz
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net