กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานสรุปตัวเลขผลประกอบการ บจ. ไตรมาส 3 ซึ่งพบว่าสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ มหภาค บริษัทจดทะเบียนมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของบริษัทในกลุ่มทรัพยากรเป็นหลัก
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2548 สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวร้อยละ 5.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ร้อยละ 4.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือการเพิ่มขึ้นของการผลิตปิโตรเลียมและการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารทะเลแปรรูป โดยสาขาที่มีการผลิตชะลอลงมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.9 ลดลงจากปี 2547 ที่มีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.6 และการค้าปลีกค้าก็มีอัตราการเติบโตที่ลดลงจากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2.8
ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้วิเคราะห์ผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 ปี 2548 เพื่อเผยแพร่ให้นักวิเคราะห์และผู้ที่ใช้ข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ภาวะในภาคเศรษฐกิจจริง พบว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ไม่รวมภาคการเงิน) มี EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4 ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับการขยายตัวของการผลิตในระดับมหภาค
ทั้งนี้ หมวดที่มี EBITDA เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มที่มีการผลิตขยายตัวในระดับเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ หมวดพลังงานและหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยกเว้นหมวดยานยนต์ที่บริษัทจดทะเบียน มี EBITDA ชะลอลงจากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 34 ในปี 2547 เหลือร้อยละ 25.2 ในปี2548
สำหรับหมวดที่มี EBITDA ลดลง ได้แก่ หมวดสื่อสาร และหมวดวัสดุก่อสร้างซึ่งสอดคล้องกับการก่อสร้างภาครัฐที่ลดลง
ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัวได้ดี โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 142.2 เทียบกับการลงทุนภาคเอกชนในระดับเศรษฐกิจมหภาคที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 11.5 อย่างไรก็ตาม การลงทุนของบริษัทจดทะเบียนมาจากกลุ่มผู้ผลิตปิโตรเลียมเป็นส่วนใหญ่
ส่วนหมวดผลิตภัณฑ์กระดาษ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดยานยนต์ มีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ยกเว้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่การลงทุนลดลงแต่เป็นผลมาจากการขยายการลงทุนตั้งแต่กลางปี 2547
แม้หมวดธุรกิจข้างต้นจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก แต่หากพิจารณาที่ประสิทธิภาพของการใช้ทุน (ROCE หรือ Return on Capital Employed) พบว่ามีเพียงหมวดธุรกิจปิโตรเลียมและหมวดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ที่ประสิทธิภาพการใช้ทุนเพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ มีประสิทธิภาพการใช้ทุนลดลง ทำให้โดยรวมแล้วบริษัทจดทะเบียนมีประสิทธิภาพการใช้ทุนลดลง--จบ--