บีโอไอปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนเอสเอ็มอีไทย เพิ่มประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริม — ยกเลิกเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรค

ข่าวทั่วไป Monday November 16, 2009 16:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--บีโอไอ บอร์ดบีโอไอไฟเขียวการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการเอสเอ็มอี โดยเพิ่มประเภทกิจการเป็น 57 ประเภท เพื่อให้นโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงผู้ประกอบการไทยรายย่อยได้ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมทั้งยกเลิกเงื่อนไขเดิมที่เป็นอุปสรรค นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือกิจการเอสเอ็มอี โดยให้มีการเพิ่มประเภทกิจการที่สามารถขอรับส่งเสริมการลงทุน จากเดิม 10 ประเภท เป็น 57 ประเภท เพื่อให้การส่งเสริมการลงทุนสามารถเข้าถึงและช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตเอสเอ็มอีของไทยได้มากยิ่ง ขึ้น “5 ปีที่ผ่านมา นโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีที่ลงทุนเพียง 5 แสนบาทก็สามารถขอรับ ส่งเสริมได้ แต่มีผู้ได้รับการส่งเสริมเพียง 146 โครงการ รวมเงินลงทุน 8,414 ล้านบาท ซึ่งเกือบทุกรายเป็นกิจการ 2 ประเภทคือ การผลิตหรือถนอมอาหาร และ กิจการคัดคุณภาพ บรรจุ เก็บรักษาพืช ผัก ผลไม้ ดอกไม้ เพราะเปิดให้ส่งเสริมเพียง 10 ประเภท ดังนั้น หากเพิ่มประเภทกิจการเป็น 57 ประเภท ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและภาคบริการ ก็จะทำให้เอสเอ็มอีไทยสามารถขอรับส่งเสริมได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับการผลิตให้เอสเอ็มอีไทยได้มาตรฐานมากขึ้น” เลขาธิการบีโอไอกล่าว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการยกเลิกเงื่อนไขเดิม ที่กำหนดให้อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ต้องได้รับการคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) หรือเป็นผู้ผลิตที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคแก่กิจการเอสเอ็มอีและที่ประชุมยังเห็นชอบให้อนุญาตให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับการส่งเสริมภายใต้นโยบายนี้ สามารถนำเครื่องจักรใช้แล้วภายในประเทศมาขอรับการส่งเสริมรวมกับเครื่องจักรใหม่ได้ แต่มูลค่าเครื่องจักรใช้แล้วจะต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท และจะต้องลงทุนในเครื่องจักรใหม่เพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่าเครื่องจักรใช้แล้ว โดยเมื่อรวมขนาดการลงทุนแล้ว (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนของโครงการ) ต้องไม่เกิน 20 ล้านบาท เพื่อให้เป็นนโยบายการส่งเสริมกิจการเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง และแม้ว่าที่ประชุมจะเห็นชอบให้มาตรการนี้เป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมีผลไปจนถึงสิ้นปี 2554 แต่กิจการเอสเอ็มอีที่ลงทุนตั้งแต่ 500,000 บาทและได้รับส่งเสริมการลงทุนภายใต้นโยบายนี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี ไม่จำกัดวงเงินที่ได้รับยกเว้น และสามารถตั้งกิจการในเขตที่ตั้งใดก็ได้ ตัวอย่างประเภทกิจการที่บีโอไอจะเปิดให้การส่งเสริมเป็นพิเศษแก่กิจการเอสเอ็มอี คือกิจการเพาะขยายพันธุ์พืชและปรับปรุงพันธุ์พืช กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารปรับปรุงดิน กิจการขยายพันธุ์สัตว์หรือเลี้ยงสัตว์ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร กิจการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ กิจการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาเซรามิกส์ กิจการผลิตแก้วหรือผลิตภัณฑ์แก้ว กิจการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอหรือชิ้นส่วน กิจการผลิตรองเท้าหรือชิ้นส่วน กิจการผลิตกระเป๋าหรือชิ้นส่วน กิจการผลิตอุปกรณ์กีฬาหรือชิ้นส่วน กิจการผลิตเครื่องเขียน ของเล่น เครื่องดนตรีกิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ กิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ กิจการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก กิจการผลิตสิ่งพิมพ์ สำหรับกิจการโรงแรม ที่ได้รับการส่งเสริมตามมาตรการนี้ มีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษ คือต้องมีจำนวนห้องพักไม่ต่ำกว่า 40 ห้อง และให้ได้รับส่งเสริมเฉพาะโครงการที่ตั้งในเขต 3 แต่ไม่รวมอำเภอหาดใหญ่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอหัวหิน อำเภอชะอำ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดพังงา และจังหวัดกระบี่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ