กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบการให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายคาร์บอนเครดิตของผู้ประกอบการในทุกประเภทกิจการ ทั้งรายที่ได้รับส่งเสริมจากบีโอไอและไม่ได้รับส่งเสริม มีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้หากจำหน่ายคาร์บอนเครดิต โดยเสนอให้ใช้มาตรการของกระทรวงการคลัง
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบนโยบายการสนับสนุนโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development Mechanism) โดยให้สิทธิในการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพราะมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้มาตรการของกรมสรรพากร ซึ่งจะสามารถใช้วิธีการยกเว้นภาษีแก่ผู้ประกอบการทุกรายที่ขายคาร์บอนเครดิต ทั้งรายที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และไม่ได้รับส่งเสริม ซึ่งกรมสรรพากรสามารถดำเนินการได้โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการในกิจการอื่น ๆ มาแล้ว เช่น กิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือ ROH (Regional Operating Headquarter)
สำหรับโครงการ CDM ที่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ เช่น โครงการพลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ขยะ ชีวมวล เชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นต้น โครงการเปลี่ยนชนิดของเชื้อเพลิงในภาคการผลิตพลังงานและคมนาคมขนส่ง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้ และหม้อต้มไอน้ำ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบทำความเย็น โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในอาคาร
ปัจจุบัน การซื้อขายคาร์บอนเครดิต สามารถซื้อขายโดยตรงกับผู้ซื้อ หรือซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิต ส่วนการทำสัญญาซื้อขายมี 2 รูปแบบ คือ สัญญาที่มีข้อตกลงที่จะส่งมอบ CERs ในระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งในอนาคต (Forward Contract) และสัญญาการซื้อขายหลังจากที่ได้รับ CERs แล้ว
สำหรับราคาการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 12 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 15-20 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ภายในประมาณปลายปี 2552