กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--รักลูกกรุ๊ป
ปลายปี 2548 องค์กรอนามัยโลก สำนักงานประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO,SEARO) ได้จัดประชุมระดมสมองผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพจิตและความอยู่ดีมีสุข (Mental Health& Mental Well-Being ) ของประชาชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่โรงแรมนารายณ์ สีลม กรุงเทพมหานคร
“รักลูกกรุ๊ป” ได้ถูกเชิญเข้าร่วมการระดมสมองครั้งนี้ด้วย ในฐานะองค์กรธุรกิจด้านสื่อสารมวลชนที่นำเสนอแนวทางการพัฒนาเด็กและครอบครัวสู้สังคมไทยมาโดยตลอด
คุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานกรรมการบริหาร ของ “รักลูกกรุ๊ป” ได้นำเสนอประสบการณ์จาก “โครงการครอบครัวเข้มแข็ง” ซึ่งเป็นโครงการที่ “รักลูกกรุ๊ป” ได้ดำเนินการมากว่า 100 ชุมชมในพื้นที่ 9 จังหวัดในทุกส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของสำนักงานกองทุนสนุบสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส) ผลของการนำเสนอประสบการณ์ในหการพัฒนาความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวและชุมชนของ “รักลูกกรุ๊ป” ทำให้ Dr. Vijay Chandra ที่ปรึกษาขององค์กรอนามัยโลกประจำ WHO, SEARO ต้องเดินทางไปดูงานโครงการนี้ในพื้นที่จังหวัดลำปางด้วยตนเอง
ผลของการประชุมระดมสมองในครั้งนี้ นำมาสู่ความชัดเจนในยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพจิตและความอยู่ดีมีสุขของประชาชนของ WHO,SEARO ว่าจะต้องเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และการเรียนรู้ของประชาชน จึงได้มีการประชุมเพื่อเตรียมการจัดการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อสร้างเวทีการเรียนรู้ให้แก่ประเทศสมาชิกทั้งหมด โดยการประชุมเตรียมเวทีเรียนรู้ให้แก่ประเทศสมาชิกได้จัดขึ้นที่ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2552
และ”รักลูกกรุ๊ป” โดยคุณสุภาวดี หาญเมธี และคณะ คือองค์กรธุรกิจเพียงองค์กรเดียวที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมเพื่อวางแผนจัดเวทีเรียนรู้ให้แก่สมาชิกของWHO,SEARO ในครั้งนี้ อีกทั้งได้รับมอบหมายจากการประชุมให้เป็นผู้รับผิดชอบในการถ่ายทอดประสบการณ์จาก “โครงการครอบครัวเข้มแข็ง” ให้แก่สมาชิก WHO,SEARO ในการประชุมเชิงปฎิบัติที่จะจัดขึ้นที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาในระหว่างวันที่ 6-9 ตุลาคม 2552
ภารกิจที่ “รักลูกกรุ๊ป” ได้รับมอบหมายภายในเวที World Health Organization Regional office for South-East Asia มี 3 เรื่อง คือ
1. บรรยายสรุปประสบการณ์และบทเรียนจาก “โครงการครอบครัวเข้มแข็ง” โดยคุณสุภาวดี หาญเมธี 6 ตุลาคม 2552
2. เป็นผู้ดำเนินในการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อค้นหายุทธศาสตร์ในการสร้างความอยู่ดีมีสุข (metal well-being) ให้กับครอบครัว และชุมชน 7 ตุลาคม 2552
3. สาธิตการสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชนโดยกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning : PL ) 8 ตุลาคม 2552
ผลงานที่ “รักลูกกรุ๊ป” ได้ดำเนินในฐานะของรักลูกกรุ๊ป และในฐานะตัวแทนของประเทศไทยในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดการยอมรับจากสมาชิกของ WHO,SEARO อย่างกว้างขวาง หลายประเทศต้องการที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมจาก “รักลูกกรุ๊ป” ให้มากยิ่งขึ้น และผู้แทนของรัฐบาลศรีลังกาถึงกับเรียกร้องให้ รักลูกกรุ๊ป เปิดสาขาประจำศรีลังกาขึ้น
ความสำเร็จทั้งหลายที่เกิดขึ้น มากจากความเชื่อที่ “รักลูกกรุ๊ป” ยึดมั่นมาตลอดนั่นคือ “การเรียนรู้ คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองไปสู้เป้าหมายที่ต้องการได้” ประสบการณ์และการเรียนรู้ของ”รักลูกกรุ๊ป” ที่ได้จาก โครงการครอบครัวเข้มแข็ง ไม่เพียงแต่สามารถทำให้ครอบครัวไทย และชุมชนไทยเกิดความเข้มแข็งอยู่ดีมีสุขเท่านั้นหากแต่ยังเป็นที่ยอมรับว่า จะสามารถทำให้ครอบครัวและชุมชนในชาติอื่นๆภายในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เกิดความเข้มแข็งและอยู่ดีมีสุขเช่นกัน